ไต้ฝุ่น ‘ขนุน’ ทวีความรุนแรง กรมอุตุฯเตือนฝนหนัก กฟผ.แจงข่าวมั่วระบายน้ำเขื่อนภูมิพลอีกกว่าวันละ 100 ล้านลบ.ม. ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เผยไม่เป็นความจริง หยุดระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.แล้ว ชาวอำเภอสรรพยา-ชัยนาท เร่งกรอกกระสอบทรายเสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่หมู่ 5 น้ำทะลักท่วมแล้ว 4 วัน ชาวบ้านเริ่มทยอยออกมาใช้ชีวิตริมถนน

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนพายุโซนร้อน “ขนุน” (KHANUN) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนหรือด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. พายุมีศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 20.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.2 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ ด้วยความเร็ว 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่าพายุมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และอ่าวตังเกี๋ยในช่วง วันที่ 16-17 ต.ค.2560 โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 16 ต.ค.2560

ทั้งนี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10-14 ต.ค. ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี กำแพงเพชร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ชัยนาท ตาก และพิจิตร รวม 32 อำเภอ 212 ตำบล 1,211 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,669 ครัวเรือน 140,579 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย

ขณะที่นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชี่ยลมีเดียระบุว่า จะมีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลอีกกว่าวันละ 100 ล้านลบ.ม. และจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันเขื่อนภูมิพลและเขื่อน สิริกิติ์ หยุดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยและไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนทั้งสองแห่งอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 9,238 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 และ 7,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ต.ค. 2560) และยังสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งปีหน้า

“กฟผ.ขอยืนยันว่าไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และเขื่อนทั้งสองยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกโดยเขื่อนภูมิพลยังรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 30 ของความจุ และเขื่อนสิริกิติ์ยังรับน้ำได้อีกประมาณร้อยละ 20 ของความจุ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อ ข่าวลือ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำได้ทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย” นายณัฐวุฒิกล่าว

ส่วนนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา พบว่าวันนี้ปริมาณน้ำทางตอนบนที่สถานี C 2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 2,804 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.48 เมตร เพิ่มขึ้นจากวันที่ 14 ต.ค. 8 ซ.ม. เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังคงงดการระบายน้ำ ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อน 2,616 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณจ.สิงห์บุรี และอ่างทอง เพิ่มขึ้น 3 ซ.ม. ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำบริเวณบ้านป้อม เพิ่มขึ้น 4 ซ.ม. ที่บ้านบางหลวงโดด เพิ่มขึ้น 6 ซ.ม. และอ.บางบาล เพิ่มขึ้น 3 ซ.ม.

วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องความรับผิดชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. โดยกล่าวว่า ตามที่เกิดฝนตกหนักเมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมาทำให้พื้นที่กรุงเทพฯกว่า 55 จุดเกิดน้ำท่วมสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพและไร้ความสามารถของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ โดยเฉพาะคนที่ชีวิตทั้งชีวิตไม่เคยสัมผัสกับความทุกข์ยากของประชาชน จะมารับรู้ปัญหาบริหารเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครได้อย่างไร

“กรณีน้ำท่วมกทม.เช้าวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ขอให้หยุดอ้างว่าอุโมงค์บางซื่อทำงานยังไม่เต็มที่ หยุดอ้างว่ามีประชาชน ทิ้งขยะลงท่อเยอะ หยุดอ้างฝนตกมากที่สุดในรอบ 30 ปี หยุดใช้ข้ออ้างใดๆ ที่จะแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ทั้งๆ ที่ปัญหาเหล่านี้ปกติคนที่อาสามาเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมกับการเผชิญปัญหาที่จะเกิดขึ้นทุกวันเวลาตลอด 24 ชั่วโมง

ยกเว้นคนที่เป็นผู้ว่าฯกทม. ที่มาจากการแต่งตั้งและเคยชินกับการรับราชการเริ่มทำงาน 8 โมงเช้าเลิกงาน 4 โมงเย็น จึงมักไม่ยี่หระต่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ และคำพูดที่ว่าให้โทษผมคนเดียวนั้นใช้แก้ปัญหาในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ ความเสียหายของคนกทม.ต้องเดือดร้อนและเสียหายจากการที่มีผู้ว่าฯกทม.ที่ด้อยความสามารถนี้ สมาคมไม่ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม.ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ขอเรียกร้องความรับผิดชอบของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. โปรดแสดงความรับผิดชอบจะถูกต้องกว่า เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจนอกกฎหมายปกติในการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ดังนั้นเมื่อเกิดความเดือดร้อนและเสียหายจากผลของการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ล่าช้าเกินสมควรนั้น หัวหน้าคสช. ต้องแสดงความรับผิดชอบ จึงจะชอบ” นายศรีสุวรรณกล่าว

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่หมู่ 3 และ หมู่ 5 ต.นางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ชาวบ้านกว่า 200 คน เร่งกรอกกระสอบทรายเสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นระยะทาง กว่า 1 กิโลเมตรก่อนที่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นแล้วล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ส่วนที่หมู่ 5 น้ำเข้าท่วมแล้วนาน 4 วัน ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นกว่า 1 เมตร บางช่วงสูงถึง 1.30 เมตร ชาวบ้านเริ่มทยอยมาใช้ชีวิตริมถนนทางหลวง 311 ด้วยการสร้างที่พักชั่วคราวขึ้น โดยแขวงทางหลวงชัยนาทร่วมกับตำรวจสภ.สรรพยา นำสัญญาณไฟจราจรมาติดตั้งพร้อมป้ายเตือน ส่วนของห้องสุขา อบจ.ชัยนาท ได้นำรถสุขาเคลื่อนที่และห้องสุขาจากเทศบาลมาให้ประชาชนมาใช้บริการ

นายนิติรุจน์ มุขเฉลิมวงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลโพนางดำตก กล่าวว่า ได้เตรียมการป้องเสริมคันกั้นน้ำที่เสี่ยงอยู่มีหมู่ที่ 1 อยู่ระหว่างป้องกัน หมู่ 3 กำลังทำแนวป้องกันเพิ่ม และหมู่ที่ 5 ที่ท่วมไปแล้ว 160 หลังคาเรือน และอีกส่วนกำลังป้องกันอยู่หากระดับน้ำเพิ่มอีกประมาณ 2,700 ถึง 2,800 ลบ.ม. ต่อวินาทีก็คงไม่ไหวและได้เตรียมสถานที่พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ที่เทศบาลตำบลโพนางดำตก มีห้องน้ำไว้บริการ และเดินสายไฟไว้บางส่วนแล้ว

ที่จ.นครสวรรค์ มวลน้ำจำนวนมากจากจ.พิจิตร ไหลบ่ามาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง น้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนใน อ.ชุมแสง อ.เมือง อ.พยุหะคีรี อ.โกรกพระ และชุมชนในเขตเทศบาล อ.เมือง อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ มวลน้ำยังไหลเข้าท่วมพื้นที่เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดใน ต.ทับกฤชใต้ อ.ชุมแสงและ ต.เกรียงไกร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 ตำบลถือว่าเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่ใหญ่ระดับประเทศได้รับความเสียหายกว่า 2 พันบ่อ ปลาที่เลี้ยงไว้หลุดไปกับกระแสน้ำ ความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนั้นชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล ยังต้องใช้เรือเร่งขนย้ายสิ่งของมีค่าออกจากบ้านไปไว้ยังที่สูงอย่างโกลาหล บางรายอพยพครอบครัวไปอยู่กับญาติในตลาดปากน้ำโพแทน

สำหรับระดับน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ ได้เพิ่มการระบายน้ำขึ้นเป็น 46 ล้านลบ.ม. ตามแผนการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเป็นวันแรก โดยขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีจำนวน 2,843 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 116 ของความจุอ่าง จากการระบายน้ำส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางน้ำและพื้นที่ท้ายของเขื่อนแล้ว โดยที่ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น น้ำในแม่น้ำพองและแม่น้ำชีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกชั่วโมง โดยเฉพาะน้ำพองเอ่อล้นเข้าลำห้วยพระคือ และทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านบ้านผือ บ้านปากเปือย บ้านคุยโพธิ์ และ บ้านบึงเนียม ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น โดยเฉพาะบ้านผืด ระดับน้ำได้ขยายวงกวางเข้าท่วมบ้านเรือนแล้ว 150 หลังคาเรือน และยังคงไหลท่วมนาข้าวที่กำลังตั้งท้องกว่า 5 พันไร่

ขณะที่จ.ร้อยเอ็ด น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งหลากเข้าท่วมบ้านเรือน วัด โรงเรียน และนาข้าว ในเขตพื้นที่อ.จังหาร ขยายวงกว้างและเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่บ้านโนนเชียงบัง หมู่ 4 ต.ผักแว่น ระดับน้ำเพิ่มสูงกว่า 1 เมตรแล้ว บ้านเรือนถูกน้ำท่วม นาข้าวจมอยู่ใต้น้ำกว่า 1,800 ไร่ หากระดับน้ำไม่ลดภายใน 1-2 สัปดาห์ข้าวจะเน่าตายเสียหายทั้งหมด ส่วนที่โรงเรียนโนนเชียงบังหาดหนองแคน้ำท่วมหมดทั้งโรงเรียน รวมทั้งที่วัดโนนสวาทโนนเชียงบัง พระต้องเดินลุยน้ำออกบิณฑบาต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน