จากกรณีคลัสเตอร์การระบาดในชุมชนคลองเตย ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนแออัด ทำให้พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 300 รายและยังมีผู้เสี่ยงสูงอีกนับพันคน ทำให้ นายกฯ มีการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีฉุกเฉินนั้น

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้เขียนถึงเรื่องดังกล่าวในแง่การควบคุมป้องกันโรค และแนวทางแก้ปัญหา ว่า “เร่งผนึกกำลังจัดการคลัสเตอร์คลองเตย ข่าวการลุกลามขยายตัวผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตยตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณเตือนที่น่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะชุมชนคลองเตยมีประชาชนอยู่อย่างหนาแน่น และผู้อยู่อาศัยหาเลี้ยงชีพด้านบริการที่ต้องออกมาพบปะผู้คน และ Work from Home ไม่ได้

ส่วนใหญ่มีโอกาสทำงานที่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองเช่นบริการ delivery ไม่น้อย และมีข่าวว่าเริ่มมีผู้ติดเชื้อไปรับบริการฉุกเฉินที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มากผิดปกติ การจัดการควบคุมโรคต้อง ’ดำเนินการอย่างเข้มข้นเป็นฝ่ายรุก’

ศบค. ต้องร่วมกับ ผู้ว่ากทม. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ต้องมาบัญชาการอย่างใกล้ชิด ระดมความร่วมมือระหว่าง กทม. กับกระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาลของ กทม., เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขของกทม. และโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลโรงงานยาสูบของกระทรวงการคลัง ตลอดจนกำลังอาสาสมัครของมูลนิธิ หรือ NGO ที่ทำงานอยู่ในชุมชนคลองเตยอยู่แล้วนับสิบองค์กร และภาคเอกชนที่พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เป็นต้น

ภารกิจสำคัญ ได้แก่
1. เร่งตรวจคัดกรองและรายงานผลให้เร็วที่สุด ให้ครอบคลุมประชากรนับแสนคน ด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม คือ ใช้ทั้ง PCR test ร่วมกับ self rapid antigen test ที่อ่านผลเร็ว ทำได้ด้วยตัวเอง และราคาถูก เป็นการคัดกรองรอบแรก
2. แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ในกรณีนี้ ถ้าหากการกักตัวในที่อยู่อาศัยทำไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องอาศัยอยู่รวมกันหลายคนในที่จำกัด ต้องแยกผู้ป่วยออกมา ประสานแยกแยะผู้ป่วยตามความรุนแรงของอาการกับบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม แทนทีบังคับว่าตรวจพบที่ไหนต้องรับผู้ป่วยที่นั่น
3. ในกรณีนี้ การ’เยียวยาชดเชยรายได้เป็นรายบุคคล’ ที่ถูกแยกมากักโรคย่อมกระทำได้แม่นยำ จึงควรทำควบคู่กันด้วย

4. เตรียมที่พักชั่วคราวเพื่อกักกันโรคให้เพียงพอเป็นเรื่องเร่งด่วน ควบคู่กับการบริหารเรื่องสถานบริการ บุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ เหมาะสมกับสถานการณ์
5. ข้อมูลเป็นจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับประชากร ที่อยู่อาศัย ผู้ติดเชื้อ สถานะที่ได้รับการดูแล การตรวจคัดกรอง การรักษา เป็นเรื่องจำเป็นในการทำงานของแต่ละภาคส่วน เพื่อความร่วมมือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งเท่าที่ทราบอาสาสมัครเอกชนในชุมชนได้มีการรวมตัวกันเริ่มดำเนินการมาขั้นหนึ่งแล้ว หากหน่วยงานของ กทม.และรัฐเรียกระดมเข้ามาย่อมเป็นผลดี อีกทั้งสามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร (digital technology) อื่นๆมาปรับปรุง ย่อมเกิดผลดี

จะเห็นว่าเรื่องต่างๆเหล่านี้ ศักยภาพเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่เป็นศักยภาพ และทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพียงต้องการการบริหารจัดการที่ดี ประกอบกับ การนำที่ดี เราก็จะฝ่าวิกฤตนี้ไปไ ด้ ขอให้ใช้การบริหารการควบคุมการระบาดโควิดในชุมชนคลองเตยให้สำเร็จ เป็นก้าวสำคัญของการประสาน ระดมสรรพกำลังในสังคมไทยฟัยฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน