วัดพุทไธศวรรย์ “เวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทอง” พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชน ตำนานกินเหล็ก

วันที่ 20 พ.ย.66 ละครพรหมลิขิต EP14 มีฉากที่พ่อริด พาแม่หญิงพุดตานมางานจองเปรียง ที่วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นต้นแบบของการลอยกระทงในกาลต่อมา

พระเจ้าอู่ทอง ประทับชั่วคราวอยู่ “เวียงเหล็ก” เพื่อสร้างพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระนครสร้างเสร็จได้ถวายเวียงเหล็กเป็น “วัดพุทไธศวรรย์”

[ชื่อ เวียงเหล็ก น่าจะเกี่ยวข้องกับเหล็กที่พระเจ้าอู่ทองเสวย มีบอกในคำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่าพระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก โดยขูดเป็นผงเอาไปตำให้แหลกละเอียด แล้วคลุกเครื่องกระยาหาร]

พระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก
เทพยดาอารักษ์ประกาศว่า ผู้ใดจะสร้างพระนครลงที่หนองโสนต้องมีฤทธิ์ 2 อย่าง (1.) กินเหล็กได้ (2.) ยิงลูกศรไป ลูกศรกลับมาหาเองไม่ต้องใช้คนไปเก็บ

พระเจ้าอู่ทองให้ “กรางเหล็กแท่งหนึ่งออกตำให้แหลกเป็นผงกรองโดยละเอียด” (กราง แปลว่า ขัดถูด้วยตะไบหรือหางกระเบนให้เป็นผง) แล้วใส่คลุกลงในเครื่องพระกระยาหาร ผงเหล็กคลุกข้าวมีรสอร่อย เสวยทุกเวลาและเสวยได้มาก แล้วกลายเป็นโอสถวิเศษให้มีพระฉวีวรรณงามผ่องใสขึ้นกว่าเก่า

พระเจ้าอู่ทอง เสด็จประทับตำหนักน้ำ แล้วแผลงศรยิงไปในทางเหนือน้ำ ลูกศรตกน้ำ แล้วลอยตามน้ำมา พระองค์ทรงกั้นไว้ด้วยคันศร ลูกศรก็เลื่อนลอยเข้ามาหาสู่แล่งศรที่ถือในพระหัตถ์ ไม่ต้องใช้คนไปเก็บ

วัดพุทไธศวรรย์ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชน
พระเจ้าอู่ทองเมื่อสร้างพระนครศรีอยุธยาสำเร็จแล้ว ก็ย้ายไปอยู่พระราชวังแห่งใหม่ ส่วนเวียงเหล็กถวายเป็นวัดพุทไธศวรรย์

แต่ยังมีความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่บรรพชนจนถึงสมัยหลังๆ ดังให้มีเฉลิมฉลองขอขมาผีบรรพชน เมื่อถึงเดือน 12 เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงราชอาณาจักร

กฎมณเฑียรบาลกำหนดว่าพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมส่งน้ำ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงเรือพระที่นั่ง แล้วล่องไปทำพิธีส่งน้ำ (หมายถึง ขอให้น้ำลด เพื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวในนาที่น้ำท่วม) พร้อมด้วยพระอรรคมเหสี, แม่หยัวเมือง, ลูกเธอหลานเธอ ฯลฯ

ครั้นถึงวัดพุทไธศวรรย์เสด็จขึ้นทอดพระเนตรการละเล่น มีจุดดอกไม้ไฟ มีเล่นหนังใหญ่ (เรื่องรามเกียรติ์)

คืนเดียวกันนี้มีเล่นหนังใหญ่ในวังหลวงด้วย แสดงถึงความสำคัญของเวียงเหล็กเสมอด้วยวังหลวงของราชอาณาจักร จะเห็นอีกว่าเวียงเหล็กกับวังหลวงอยู่แนวเดียวกันเหนือ-ใต้

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน