เส้นทางชีวิต ‘บิ๊กต่าย’ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.คนที่ 15 จากไม่เคยคิดอยากเป็นตำรวจ ถูกหลอกด้วยแห 1 ปาก สู่ผู้นำสีกากี เตรียมสร้าง ตร.ให้เป็นอินฟลูฯ

ผบ.ตร.ย่อมาจาก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การจะก้าวขึ้นมานั่งในตำแหน่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ถ้ายิ่งมีทั้ง ‘บุ๋น’ และ ‘บู๊’ ด้วย การกุมบังเหียนในฐานะหัวเรือใหญ่ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ปักธงคำว่า ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์’ ในหัวใจ เพราะเราคือข้ารับใช้ประชาชน วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก ‘บิ๊กต่าย’ ผบ.ตร.คนที่ 15 กัน

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ว่า รู้สึกยังไงใช่ไหมครับ ถามว่าดีใจมั้ย คือไม่ดีใจครับ คิดว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ต้องมีภาระหน้าที่ที่หนักหน่วง มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่แต่ก็เป็นความภูมิใจของครอบครัวและวงศ์ตระกูล มันเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าการที่เราก้าวขึ้นมาในจุดที่เป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรนี้ ก็เป็นความดีใจแล้วภูมิใจของคนที่เกี่ยวข้องในชีวิตของเรา แต่ตัวเราเองนั้นก็รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบสูงขึ้น ต้องทำงานหนักขึ้น แล้วก็ต้องดูแลตำรวจ ดูแลพี่น้องประชาชนมากขึ้นกว่าที่เคยตำแหน่งอื่นๆ ที่เคยดำรงมา

เมื่อถามว่าเคยคิดไหมว่าในชีวิตข้าราชการตำรวจจะก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า พูดตรงๆ ผมไม่เคยคิดเลย ตอนที่สอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ตอนนั้นจบมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดราชบุรี คุณพ่อเป็นตำรวจ แต่เป็นตำรวจยศแค่ดาบตำรวจ ทำหน้าที่เสมียนคดีของโรงพักเมืองราชบุรี คุณพ่อก็มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ขณะนั้นถ้ามีนักเรียนนายร้อยตำรวจไปฝึกงาน ก็จะให้คุณพ่อช่วยแนะนำ

ผมเองก็เป็นเด็กคนหนึ่งซึ่งอยู่บ้านนอก อยู่สุดเขตของเมืองราชบุรี เล่นน้ำ เข้าทุ่งนาหาปลากันแบบเด็กๆ ในความคิดไม่เคยคิดจะเป็นข้าราชการเลย เนื่องจากบ้านอยู่ติดแม่น้ำ แล้วมีความรู้สึกว่าอยากทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับน้ำ เพราะว่าแม่น้ำแม่กลองเหมือนชีวิตของเรา แต่คุณพ่อก็บอกว่าพี่น้อง 4 คนไม่มีข้าราชการเลย อยากให้ลองสอบดู สอบเป็นข้าราชการตำรวจได้ไหม แต่ว่าในใจคือไม่ได้คิดถึงเรื่องทหารตำรวจเลย แต่ด้วยการหลอกล่อของคุณพ่อ ตอนนี้คุณพ่อเสียแล้ว บอกว่าถ้าไปสอบเตรียมทหารพ่อจะให้แห 1 ปาก คือชีวิตเราอยู่กับแม่น้ำ เราก็อยากได้แห 1 ปาก ซึ่งเห็นคุณพ่อกับพี่ชายในเวลาหาปลาก็ใช้แห เราก็อยากมี ก็เลยไปสอบเตรียมทหาร

“สอบที่ ม.รามคำแหง ที่หัวหมาก ปรากฏว่าสอบติด จากนั้นก็เริ่มชีวิตของการเป็นนักเรียนเตรียมทหารที่ลุมพินี ปัจจุบันเป็นเดอะ วัน แบงค็อก แล้วก็เปลี่ยนไปฝึกอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน อยู่ที่นั่น 3 ปีเต็ม ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อย 3 ปี ตลอดชีวิตการเรียน 4 ปี การใช้ชีวิตเป็นนักเรียนเตรียมทหารนักเรียนนายร้อย คือมันเป็นคำถามที่อยากจะพูดออกมาว่า เราไม่เคยคิดเลย เมื่อไม่เคยคิดแต่ต้องมาสัมผัสกับการฝึกวิชาทหารตำรวจ มันหนักมาก หนักหน่วงมาก เป็นอะไรที่เราคิดว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ทำไมต้องฝึกขนาดนี้”

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวต่อว่า แต่มาถึงจุดนี้จากการที่ดำรงตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ พบปัญหาการรับราชการมาเรื่อยๆ เราเข้าใจเลยว่าทำไมชีวิตที่ต้องฝึกให้เราอดทนอดกลั้น แล้วก็ไม่ประมาทคืออะไร จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ไปดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนที่ สภ.อ.เมืองระยอง เป็นสถานที่แรกที่ผมไปดำรงตำแหน่งที่นั่น ก็ถือว่าชีวิตความเป็นตำรวจเรื่องปฏิบัติคือกำเนิดจากที่นั่น ตลอดเวลาที่รับราชการมาเป็นรองสารวัตร เอาแค่ตำแหน่งสารวัตรนี่ไม่เคยคิดเลยครับ ดังนั้นจะมาถึงตำแหน่ง ผบ.ตร. ยิ่งไม่เคยคิดไปใหญ่เลย ก็ตำแหน่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็เป็นสารวัตรสอบสวนที่ สภ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ในระหว่างที่เป็นรองสารวัตร จนถึงเป็นสารวัตรเราทำงานด้านสืบสวนมา แล้วก็ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากนายตำรวจผู้ใหญ่ท่าน 1 ซึ่ง อยากจะให้มาทำหน้าที่เป็นนายตำรวจหน้าห้องช่วยกลั่นกรองงาน

“จึงทำให้ได้เรียนรู้งานในช่วงที่ท่านไปเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ต้องพูดตรงๆ ว่าเป็นห้วงเวลาที่หนักมาก หนักจริงๆ เราไม่คิดว่าการเป็นนายตำรวจติดตามหรือที่เรียกว่านายเวร จะหนักไม่แพ้กับการดำรงตำแหน่งที่สถานีเลย คือต้องอยู่ด้วยทำงานด้วย ติดตามด้วย ประสานงานทุกอย่าง แล้วมันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า ไม่น่าเป็นตำรวจเลย แล้วพอก้าวขึ้นมาเป็นสารวัตรสืบสวน แล้วก็ขึ้นมาเป็นรองผู้กำกับอยู่ที่กองปราบ จากนั้นชีวิตก็ดำเนินไปตามตำแหน่งที่เราได้รับ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปอยู่กับข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่าน 1 ที่เราเคารพนับถือจนถึงทุกวันนี้ แต่ละตำแหน่งที่ก้าวขึ้นมาต้องเรียนว่า มันทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่คิดจะถึงตำแหน่งรองผู้กำกับ ในตอนเป็นรองสารวัตร ร้อยตำรวจตรี ร้อยตำรวจโท เราเห็นสารวัตรใหญ่ แล้วก็มีพันตำรวจเอก ต่อมาก็คือเป็นผู้กำกับ ตัวเราเองเราคิดว่าเป็นตำแหน่งที่ดูสูงมาก คือเป็นตำแหน่งที่รู้สึกน่าเกรงขาม ทั้งด้านการทำงาน และการอยู่กับประชาชน เราก็ไม่คิดว่าเราวันหนึ่งเราคงจะได้เป็นแบบนั้น แล้วก็ใฝ่ฝันมั้ย ไม่เลยครับ ไม่เคยคิดเลย นี่คือเป็นคำถามที่อยากจะอธิบายให้ฟัง”

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวอีกว่า สุดท้ายเราก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับการตำรวจทางหลวง ที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วก็หมุนเวียนมาเป็นผู้กำกับการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) แล้วก็ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจน้ำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วก็ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจท่องเที่ยวที่จังหวัดขอนแก่น คือจังหวะที่ไปเป็นอย่างนี้มันจะรับผิดชอบหลายจังหวัด พื้นที่มันไกล มันเหมือนเราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ในหน้างานที่เปลี่ยนไปก็จะเก็บประสบการณ์ใหม่ แต่ก็ยังยืนยันว่าตำแหน่งที่เป็นนายพล มันเป็นตำแหน่งที่สูงมากในวงการตำรวจ ไม่เคยใฝ่ฝันเลย ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งเราจะได้เป็นนายพล เพราะเราเริ่มเรียนรู้การเป็นข้าราชการตำรวจแล้วว่า แต่ละตำแหน่ง แต่ละหน้าที่ การจะก้าวขึ้นไปแต่ละจุดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในตอนที่พิจารณาเรื่องข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติครบ หรือที่เรียกว่าเป็นคู่แข่งเพื่อเป็น ผบ.ตร. เราไม่เคยคิดจริงๆ

“ก้าวขึ้นมาเป็นรองผู้บังคับการ ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ชีวิตที่เหลือเชื่อในชีวิตก็คือตอนนั้นเป็นรองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ อยู่ที่ บช.ก. ได้มีตำรวจผู้ใหญ่ท่าน 1 ซึ่ง เรียกเรามาพบแล้วก็บอกว่าให้ทำงาน ตอนนั้นมีแฟ้มตั้งบนโต๊ะเต็ม 4-5 แฟ้ม แล้วก็บอกให้จัดการ บอกเราว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานที่ ตร. จะต้องดำเนินการในทุกปี ก็คือเป็นพิธีการต่างๆ คือให้มาช่วย แต่ขณะนั้นเราเองเป็นรองผู้บังคับการ ปคม. ซึ่งเราก็ต้องทำงานในหน้าที่ของเราด้วย ต้องทำงานบริหารมาเป็นลำดับๆ ตอนที่เราเป็นรองผู้บังคับการ เราคิดแค่ว่าอีกกี่ปีเกษียณ อย่างไรเราก็ได้อาวุโสขึ้นเป็นนายพล เราคิดแค่นั้นจริงๆ เพราะว่าพอเราเป็นรองผู้การฯ ตัวเองเป็นคนไม่เคยคิดว่าอีกกี่ปีจะเป็นนายพลไม่เคยคิด แต่คิดแค่ว่าทำงานไป มีหน้าที่เป็นรองผู้การฯ ทางหลวง รองผู้การฯ ปคม. ได้รับผิดชอบเรื่องบริหาร ก็ศึกษาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่าเรื่อง คน งาน เงิน ของ ต้องทำอะไรอย่างไร เรียนพักลักจำจากพี่ๆ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า วันหนึ่งถูกเรียกมาช่วยงาน ตร. การช่วยงาน ตร. นั่นคือจุดกำเนิดที่ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลย ก็คือได้รับการพิจารณาจากท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ท่านก็บอกว่าให้มาทำหน้าที่เป็นเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูดไปก็อาจจะไม่เชื่อ เพราะตอนนั้นตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่าเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำอะไร เหมือนกับเรารู้สึกว่าถูกย้ายงาน ส่วนตัวเป็นคนที่ว่าย้ายไปไหนก็ไปไม่ได้สนใจอะไร ตอนที่เป็นผู้กำกับฯ ถูกย้าย ทุกคนก็รู้สึกว่า “พี่ถูกย้ายไปที่มันไกลนะ” เราบอกกับน้องๆ ว่าการย้ายไปก็คือเป็น พ.ต.อ.เหมือนเดิม เงินเดือนเท่าเดิม เงินประจำตำแหน่งเหมือนเดิม ไม่เห็นซีเรียสอะไรเลย ไม่ได้ซีเรียสเลยไปก็ไป แต่ไม่รู้จังหวัด ตอนนั้นไม่รู้จริงๆ จากที่เป็นผู้กำกับมอเตอร์เวย์ทางหลวง อยู่กรุงเทพฯ ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจน้ำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พอตอนนั้นตกใจมาก ภรรยาก็ร้องไห้เพราะมันไกล แต่คิดว่าไปก็ไป

“ตอนนั้นก็ไปค้นพบชีวิตที่มีความสุขจริงๆ กับการทำงาน ลูกน้องดี พื้นที่ก็มีความสุข ลูกน้องอยู่ในวินัยสูงมาก เราก็ได้พบปะลูกน้องที่ดีพรรคพวกที่ดี แต่ปีเดียวโดนย้ายอีก ที่บอกว่าไปอยู่ตำรวจท่องเที่ยวที่ขอนแก่น แบบรู้สึกไปไกลอีกแล้ว ไปอีสานแต่ก็เหมือนกันไปเจอพรรคพวกที่ดี ตำรวจท่องเที่ยวที่ดี พี่น้องตำรวจภูธร เราเจอแต่กัลยาณมิตรที่ดี ไม่มีศัตรู แต่ตอนขึ้นมาเป็นเลขานุการฯ ตร. มันเป็นบทบาทที่เปลี่ยนไปจริงๆ มันเหมือนการปูพื้นฐานให้เราได้เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนั้นเองที่เป็น พล.ต.ต. ถ้าถามว่าตอนนั้นภูมิใจไหม รู้สึกดีใจว่าเราเป็น พล.ต.ต. ได้อย่างไร คำว่าเป็นได้ยังไงยังอยู่ในหัวจนถึงทุกวันนี้ทุกตำแหน่งที่โตขึ้นมา”

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เราได้เรียนรู้ว่าการอยู่กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องทำอะไร การเป็นเลขา ตร. ต้องประสานงานกับเหล่าทัพต่างๆ ต้องทำอย่างไร ในงานของรั้ว ตร.ทั้งหมด เลขานุการต้องทำอะไร มันก็ไม่ต่างจากแม่บ้านที่ต้องดูแลทั้งหมด ในเรื่องของหน้าที่การงานดูแลคนในรั้ว ดูแลหน่วยงานทุกหน่วย ดูแลผู้บังคับบัญชาทุกคน รวมแล้วประมาณ 33 คน ในปัจจุบันนี้มีแค่ 19 คน ก็คิดเหมือนเดิมว่าเป็น พล.ต.ต. ถ้าเกษียณตอนนั้นปี 2556 อีก 13 ปี ผมก็จะเกษียณปี 2569 ได้ยศ พล.ต.ท. แน่นอนคิดแค่นี้ไม่ได้คิดจะไปแย่งชิงกับใคร ไม่เคยคิดจริงๆ มีหน้าที่อะไรก็ทำไป เราคิดว่าเดี๋ยวเป็น พล.ต.ต. เป็นผู้บังคับการไปอีก 5-6 ปี ก็มีลำดับอาวุโส อันที่ 33% ก็จะเป็นรองผู้บัญชาการ พอเป็นรองผู้บัญชาการก็คิดว่าตอนเกษียณได้ยศ พล.ต.ท.แน่ๆ ผมคิดแค่นี้จริงๆ แล้วพอมาเป็นรองผู้บัญชาการได้ 3 ปี เหลืออีก 10 ปีถึงจะเกษียณได้รับโอกาส พิจารณาขึ้นเป็นผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. โดยผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งที่เมตตาในยุคของท่าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และมีท่าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ท่านให้ความกรุณา

“พอก้าวขึ้นมาเป็น พล.ต.ท. เหลือเวลาราชการอีกหลายปี ถ้าเราเกษียณเราก็ได้ พล.ต.อ. ก็คิดเพียงแค่นี้จากนั้นก็ได้ถูกไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในปีต่อไป ก็ยิ่งได้เรียนรู้ว่าเราต้องรับผิดชอบในภูธรจังหวัดที่ดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันตอนที่เป็นรองสารวัตรและเป็นสารวัตร คือใฝ่ฝันว่าเราอยากจะอยู่กับพื้นที่ที่เราใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน จากนั้น 2 ปีขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ก็ตกใจอันนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตให้ได้เรียนรู้งานบริหาร ผมเป็นคนชอบเข้าฟังประชุม ผมคิดว่าการประชุมตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆ จนโตขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้ามีการประชุมเนี่ยผมจะไม่ค่อยมอบเลย จะไปเอง อยากเรียนรู้สาระสำคัญในการประชุม อยากเรียนรู้สไตล์ของแต่ละคนที่พูด ที่คิดคือมันเป็นความโชคดีที่ผมคิดว่าเราไม่ควรหนีเรื่องการประชุม เราอยากได้ประสบการณ์ ผมถึงเป็นผู้ช่วยฯ ที่ไม่ไปไหนเลย แล้วก็โดนมอบงานเยอะมากๆ แต่ตอนนั้นที่เป็นผู้ช่วยฯ เราคิดว่าเราจะต้องดูแลองค์กรนี้กับตำรวจอย่างไร จนก้าวขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ตร. ได้ทำงานเป็นฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ จากนั้น 2 ปีก็ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตำแหน่งที่รู้สึกถึงความรับผิดชอบที่หนัก เราต้องคิดว่าจะดูแลตำรวจกว่า 200,000 คนอย่างไร ต้องทำให้ประชาชนรักเรายังไง ฉะนั้นถ้าวันนี้ถามว่าดีใจหรือไม่ ไม่ดีใจแต่ทุกคนภูมิใจ เรารู้สึกตัวเราต้องเหนื่อยขึ้นอีก“

เมื่อถามว่าชีวิตที่ต้องแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะแคนดิเดต ผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า รู้สึกว่านั่นคือการแข่งขันครั้งแรก แต่ว่าใจเองก็ไม่อยากใช้คำว่าแข่งขัน มันเป็นศัพท์คำพูดที่คนทั่วไปพูดว่าคนที่มีคุณสมบัติครบแล้วต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรและเพียงตำแหน่งเดียวในองค์กรนี้ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิ มีความสง่างาม ทุกคนก็จะใช้ว่าแข่งขัน แต่ผมไม่ใช้คำนั้นเพราะว่าเราไม่คิดจะแข่งกับใครจริงๆ อยากจะถอยความรู้สึกกลับไปว่าตอนเป็นรักษาการ ผบ.ตร. ตอนเดือนมีนาคม รู้สึกอึดอัดมาก เพราะว่าต้องมาทำหน้าที่เสมือน ผบ.ตร. แต่พยายามจะลืมความเป็นตัวตนของตัวเอง และความคิดที่อยากจะทำออกมาในช่วง 3 เดือนนั้น แล้วพอใน 3 เดือนนั้นก็กลายเป็นแคนดิเดต ในกลุ่มที่เป็นรองผบ.ตร. แล้วก็จเรตำรวจแห่งชาติที่มีคุณสมบัติครบ แต่ไม่คิดที่จะไปแข่งกับทุกคนเลย จากความรู้สึกจากใจอย่างจริงใจ คิดแค่เพียงว่า ท่านใดจะเป็น ผบ.ตร.ย่อมได้ เราเป็นรอง ผบ.ตร. เราคิดว่ามันมาถึงจุดที่สุดของชีวิตแล้ว เราถึงจุด พล.ต.อ. ก็คือยศที่ไม่มีสูงไปกว่านี้แล้วในองค์กรนี้เราภาคภูมิใจที่สุดแล้ว

เมื่อถามว่านโยบายการบริหารตร. ต้องการจะมุ่งเน้นด้านใดเป็นหลัก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการนำธรรมะมาใช้ มาปฏิบัติ มาฝึก ให้เกิดความเข้าใจให้ถ่องแท้ ส่วนนี้ต้องให้ทุกคนที่ประชุมรับนโยบาย ได้น้อมนำเอาพระบรมราโชวาทนี้ไปใช้ โดยนโยบาย 15 ข้อ อยากจะเน้นเรื่องการปรับทัศนคติ ค่านิยม และความคิด ที่เรียกว่า mindset (ไมนด์เซต) ของตำรวจ อันเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชีวิตการทำงาน อยากให้ตำรวจปรับความคิดตัวเองว่าเราเป็นตำรวจ เรามีหน้าที่การงาน ที่ควรทำ เรามีธรรมะที่ควรจะนำมาไว้เป็นแนวทางการปฏิบัติ เราเป็นตำรวจที่สวมใส่เครื่องแบบอันมีเกียรติ หน้าที่ของเราคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อยากให้ตำรวจทุกคนปรับ mindset ตัวเองว่าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คือต้องดูแลพี่น้องประชาชน อะไรที่เกิดเรื่องกับพี่น้องประชาชน อะไรที่เป็นทุกข์ของพี่น้องประชาชน ตำรวจควรจะรีบเข้าไปแก้ไขทันที ช่วยเหลือทันที ให้เขารู้สึกอุ่นใจ และเขาก็จะรักตำรวจ แล้วก็เชื่อมั่น อันนี้คือ 1 ประเด็นแรกเลยที่ผมคิดว่าถ้าเอาธรรมมาใช้ ต้องปรับ mindset ตัวเอง เพื่อจะไปทำ 14 ข้อที่เหลือให้เกิดความสำเร็จในเรื่องการที่ถูกตั้งไว้เรื่องความเชื่อมั่นและศรัทธา

เมื่อถามว่าประชาชนมองตำรวจมีภาพลักษณ์อย่างไร พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ประชาชนมองตำรวจได้หลายแง่ หลายมุม บางครั้งเราทำตามหน้าที่ หลายกลุ่มหลายคน ก็จะมีมุมมองที่ถึงแม้จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับเรา ด้วยความที่ไม่เข้าใจ และในโลกของยุคโซเชียลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลายกลุ่มไม่เข้าใจก็จะโจมตี เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่สิ่งที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ แล้วเกิดความไม่เข้าใจก็ย่อมเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ แต่ตำรวจอาจจะด้อยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ แต่อีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ แต่เอาเครื่องแบบไปใช้ผิดต่อหน้าที่ ทำผิดต่อพี่น้องประชาชน และไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เราเป็นผู้นำองค์กร เราต้องยอมรับในความเป็นจริงว่า มันมีจริงๆ แต่สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราเทียบเปอร์เซ็นต์แล้วมันก็ไม่ได้สูง แต่การทำมันเป็นเรื่องของการทำให้องค์กรเสื่อมเสียภาพลักษณ์ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็นลำดับๆ ถ้ายิ่งปล่อยปละละเลย ก็จะทำให้ตำรวจรู้สึกว่าเขาทำได้ ภาพลักษณ์ทางลบมันจึงเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นประชาชนก็จะไม่เปิดบ้านต้อนรับ รู้สึกตำรวจไม่เป็นมิตร แล้วก็ไม่อยากเจอตำรวจเลย

“พอไม่อยากเจอตำรวจเลย ทำให้เรารู้สึกแย่มาก ในช่วงที่ตัวผมเองรักษาการ ผบ.ตร. เมื่อเดือนมีนาคม ผมสะเทือนใจกับการเปรียบเทียบว่าตำรวจเหมือนโจร ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก คำพูดนี้มันมีจริงครับ แล้วในช่วงนั้นผมไม่คิดเรื่องอะไรเลย คิดอย่างเดียวว่าเราจะต้องปรับ mindset ใหม่ ขอความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยแต่ละระดับ ปรับเปลี่ยนความคิดตำรวจให้มาออกในทิศทางที่ดี ดังนั้นภาพลักษณ์ที่ประชาชนมีที่ผ่านมา ผมยอมรับว่ามีตำรวจที่ประพฤติไม่ดี แต่มันก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่ส่วนน้อยนี้มันทำให้เกิดการขยายวงกว้าง และทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเกลียดชัง และไม่ต้อนรับตำรวจ ไม่ยอมรับตำรวจ ในความรู้สึกด้านจิตใจ อันนี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น

เมื่อถามว่าเราจะทำยังไงให้ประชาชนรักและเชื่อมั่นในตำรวจ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า นโยบายที่ตนให้ไปเป็นเส้นทางเป็นถนนที่กำหนดให้ทุกคนต้องคิด ในฐานะที่เป็น ผบ.ตร. ได้จัดทีมทำงานขึ้นมาเพื่อกำหนดวิธีการที่ให้ทุกคนเดินตาม แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลาที่จะปรับเปลี่ยนตำรวจ ให้กลายเป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เกิดคดีขึ้นมาหลายคดี ตัวเองได้ไปดูแลตรวจสอบ เราต้องแสดงให้ตำรวจเห็นว่า นี่คือหน้าที่เราถึงแม้เราจะเป็นผู้นำองค์กร แต่หน้าที่การสืบสวนมันเป็นของหน่วย แต่เราฐานะผู้นำหน่วย เราลงไปเพื่อเป็นกำลังใจให้กับตำรวจ เราลงไปเพื่อรู้ข้อเท็จจริง เราลงไปเผื่อเกิดปัญหาแล้วเราแก้ได้เลย เราลงไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตำรวจด้วย แล้วก็พี่น้องประชาชนที่เป็นผู้เสียหายด้วยว่า เป็นถึงระดับผู้บริหารตร.ยังลงมาดูเอง

แล้วไม่ได้ลงไปดูเพื่อให้เกิดภาพกับตัวเอง แต่อยากให้รู้สึกว่าลงไปแล้วเราใส่ใจ ตัวผมไม่ได้ลงไปครั้งเดียว จะลงไปเรื่อยๆ แต่ต้องการให้ตำรวจมีกำลังใจ ประชาชนเชื่อมั่น แล้วเป็นตัวอย่างให้กับตำรวจทั้ง 2 แสน กับคนที่หน่วยปฏิบัติ ให้เห็นว่าเวลาเกิดอะไรสักเรื่อง คุณจะต้องลงไปทันที แต่ถ้าคุณนั่งอยู่เฉยๆ แล้วประชาชนเข้ามาหา โดยที่คุณไม่ได้ลงไปหาเขา เอาความทุกข์ร้อนมาบอก เอาสิ่งที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เกิดความสงบเรียบร้อยในชีวิตของเขา ผมบอกให้เลยว่านั่นคือความสำเร็จแล้ว ก็คือไม่ต่างจากการเป็น อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเช่นนั้นให้ได้ อยากจะบอกภาคเอกชน ที่คอยช่วยเหลือประชาชน ท่านทำดีครับ ทำดีมากๆ เลย แต่มีเพียงไม่กี่คน ผมจึงอยากจะสร้าง ผู้บัญชาการที่หลักๆ ประมาณ 30 คน ให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประชาชนเข้าหาและไว้ใจ

เมื่อถามว่า 3-6 เดือนนี้อยากเห็นอะไรในฐานะ ผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า อยากเห็นการเข้มงวด เดินหน้าเชิงรุก การปราบปราม หรือการกระทำอาชญากรรมใดๆ ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในการรบกวนความเป็นสุขของเขา รบกวนสุจริตชน กระทำต่อ ประชาชนที่เป็นลักษณะภัยคุกคาม สิ่งที่เราต้องปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งจะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน แล้วก็เร่งรัดดำเนินการ ให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

และ 2 คือการจัดระเบียบปัญหาการจราจร ในหน้าที่ตำรวจ ยอมรับว่าเรายังไม่มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้มากเท่าไหร่ ตำรวจยังคงต้องเหนื่อยต่อ แต่ผมฝันไว้ว่าในวันหนึ่งจะไม่มีตำรวจอยู่บนท้องถนน เราจะใช้เทคโนโลยี ทุกวันนี้การขับขี่รถยนต์รถจักรยานยนต์ยังมีบางคนที่ยังฝ่าฝืนกฎจราจรและวินัยการจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเป็นการปลูกฝังที่ทำให้คนอื่นเลียนแบบ เช่น ไม่หยุดไฟแดง รถจักรยานยนต์ มองซ้าย มองขวา ไม่มีตำรวจก็ไปเลย สิ่งนี้เราต้องจัดระเบียบและปลูกฝังความมีวินัยให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา และแน่นอนว่าย่อมมีการต่อต้าน แต่เราจะใช้ความค่อยเป็นค่อยไปกับพี่น้องประชาชน อยากให้เขาเข้าใจเราว่าทำไมเราต้องทำอย่างนั้น การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่เราจะใช้

“เรื่องต่อไปเราเชื่อว่ามีการลักลอบนำพาต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วก็มาประกอบกิจการหากิน ทำธุรกิจ คนต่างชาติก็มาทำธุรกิจ แบบนอมินี อาชญากรรมข้ามชาติ เรียกค่าไถ่ ต่างด้าวเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ หลบหนีเข้ามา มาทำมาหากิน เป็นเรื่องที่เราควรจะเข้มงวดกวดขัน เพื่อไม่ให้อนาคตเด็กไทยถูกสิ่งเหล่านี้กลืนกิน แล้วเกิดการทำให้อาชีพ ความเป็นอยู่อาชญากรรมมากระทำเช่นนี้กับประเทศไทย เป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้ สิ่งที่เราจะเน้นหนักเลยคือ ถ้าตำรวจทำดี เราจะดูแล ช่วยเหลือสนับสนุน ให้กำลังใจ ยกย่อง เชิดชู ทุกวิถีทางที่ทำได้ แต่ถ้าทำไม่ดี ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำองค์กรและปกครองตำรวจถึง 2 แสนกว่าคน ก็มีความเด็ดขาด ชัดเจนว่าทำผิด ต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการแรกๆ ที่เราคิดว่าอยากจะทำให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่าในฐานะท่านเป็นผู้นำองค์กรคนใหม่ล่าสุด อยากบอกอะไรผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเอง และความคาดหวังของประชาชน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ถ้าบอกว่าสังคมสิ้นหวังกับตำรวจ นี่คือคีย์พ้อยท์ ผมอยากบอกถึงข้าราชการตำรวจทุกคนตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานจนถึงระดับบริหาร ให้เราหันกลับมามองตัวเอง ว่าเราเป็นข้าราชการของแผ่นดิน เรามีหน้าที่การงานอะไร เราเป็นข้าราชการตำรวจ ที่เราได้รับพระราชทานยศ ตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อยากให้พึงระลึก แล้วเรามาร่วมมือกันนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วดึงคำว่าสิ้นหวังกับตำรวจให้ละลายหายไป แล้วทำให้ประชาชนอ้าแขน แล้วโอบกอดเราด้วยความรัก ความเชื่อใจ ความมั่นใจในการที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน

อยากให้ทุกคนเข้าใจตัว ผบ.ตร. คนนี้ว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อตำรวจทุกคน เพื่อพี่น้องประชาชน ถ้าผมเองเพียงคนเดียว เดินไปสู่ถนนหนทางที่มืดมิด หรือมีแสงสว่างที่ผมเป็นคนติดหลอดไฟอยู่คนเดียว คงทำอะไรไม่ได้ในระหว่างที่เดินไปตามถนนเส้นนั้น แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกันช่วยกัน เหมือนไม้เส้นเล็กๆที่เรามารวมกัน แล้วมันจะเกิดความแข็งแกร่ง อยากให้เป็นแบบนั้น ขอให้ทุกคนหันมาช่วยกันทำงาน ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หน้าที่การงานพวกเรา แล้วนำไปสู่ความร่มเย็นกับพี่น้องประชาชน ก็ขอให้เข้าใจแล้วก็ขอให้ช่วยเหลือกัน

เมื่อถามว่าต่อไปนี้เราจะเป็นตำรวจยุคใหม่ New generation พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า New generation คือไม่มีคำว่า X Y Z เพราะตำรวจในยุคนี้จะมี X Y Z ปนกัน เจนเนอเรชั่น Z เป็นเด็กยุคใหม่ ก็คือที่เข้ามาเป็นตำรวจใหม่ๆ ก็จะมีความคิดอีกแบบ หนึ่ง แต่อย่างผมน่าจะเป็น X ส่วน Y อยู่ตรงกลาง คือผมต้องอยู่ในจุดเส้นกลาง เพื่อเดินไปสู่สายกลาง นิวเจเนอเรชั่นของตำรวจนี้ คือเราจะเป็นตำรวจที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรนี้ ให้องค์กรนี้เป็นที่เชื่อมั่นและศรัทธากับตำรวจเองกับครอบครัวตำรวจ แล้วก็กับพี่น้องประชาชนให้ได้ คำว่าเจนเนอเรชั่น คือมันเป็นการเปรียบเทียบว่า X Y Z มารวมกัน แล้วเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ แล้วเดินไปด้วยกัน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน