เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กอ๊อด”พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมขบวนการกำหนดผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลล่วงหน้า โดยมีผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 12 ราย พร้อมกับได้มีการจับกุม และคุมตัวสอบปากคำอยู่ที่กองบังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งรายชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 12 คน ประกอบด้วย นักฟุตบอลอาชีพ 5 ราย คือ 1.นายสุทธิพงษ์ เหลาพร นักฟุตบอลทีมราชนาวี เอฟซี 2.นายณรงค์ วงษ์ทองคำ ผู้รักษาประตู ทีมราชนาวี เอฟซี 3.นายสุวิทยา นำสินหลาก นักฟุตบอลทีมราชนาวี เอฟซี 4.นายเสกสันต์ ชาวทองหลาง นักฟุตบอลทีมราชนาวี เอฟซี 5.นายวีระ เกิดพุดซา ผู้รักษาประตู ทีมนครราชสีมา มาสด้าเอฟซี

กรรมการผู้ตัดสิน (ฟีฟ่า) 1 ราย คือ นายภูมิรินทร์ คำรื่น และไลน์แมน 1 ราย คือนายธีรจิตร สิทธิศุข

ผู้บริหารสโมสร 1 ราย คือ นายเชิดศักดิ์ บุญชู ผู้อำนวยการสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี กลุ่มนายทุนหรือตัวแทนนายทุน 4 ราย คือ 1.นายวัลลภ สมาน 2.นายกิตติภูมิ ปาภูงา 3.นายมานิตย์ หรือ เศรษฐปสิทธิ์ โกมลวัฒนะ 4.นายภาคภูมิ พันธ์นิกุล

สำหรับจุดเริ่มต้นของขบวนการปราบปรามการล้มบอลไทย เริ่มต้นมาจากเมื่อเกมวันที่ 20 ก.ค. ได้มีผู้ตัดสิน นายธีรจิตร ติดต่อนักฟุตบอลชื่อ น็อต (นามสมมุติ) เพื่อให้ล็อกผลการแข่งขัน แต่ทว่านักฟุตบอลปฏิเสธ ก่อนที่จะนำเรื่องไปรายงานกับผู้ใหญ่ในสโมสร ซึ่งต่อมาได้มีการส่งเรื่องต่อไปยังสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการสืบสวนทั้งหมด

จากนั้นสืบทราบพบว่ามีการล็อกผลการแข่งขันอีก 4 ครั้งด้วยกัน เริ่มต้นที่วันที่ 26 กรกฎาคม คู่ระหว่าง อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด พบกับ ศรีสะเกษ เอฟซี มีกลุ่มนายทุน และผู้บริหารสโมสร ร่วมกับกรรมการ ว่าจ้างให้มีการล้มฟุตบอล แบ่งออกเป็นค่าจ้างกรรมการ 1 คน จำนวนเงิน 100,000 บาท ค่าจ้างนักกีฬา 4 คน คนละ 200,000 บาท รวมทั้งสิ้น 900,000 บาท ซึ่งผลในเกมนั้นต้องการให้ทีมเป้าหมายชนะในครึ่งเวลาแรก และเมื่อจบครึ่งแรกทีมเป้าหมายขึ้นนำ 1-0 เป็นไปตามที่กำหนดไว้

 

คู่ต่อมาวันที่ 10 ก.ย. ระหว่าง นครราชสีมา เอฟซี กับ สุพรรณบุรี เอฟซี มีการว่าจ้างผู้รักษาประตู เป็นจำนวนเงิน 350,000 บาท กำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้าให้มีการทำประตูรวมในการแข่งขันตามราคาต่อรองของเว็บไซต์พนันฟุตบอลที่ราคา 2.5 ประตู ทำให้ต้องมีประตูมากกว่า 3 ลูกขึ้นไป ซึ่งผลจบลงทั้งสองทีมเสมอกัน 2-2 เท่ากับว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้

คู่ที่สาม วันที่ 17 ก.ย. ระหว่าง ราชนาวี พบกับ พัทยา ยูไนเต็ด ได้มีการว่าจ้างนักกีฬา 4 ราย รายละ 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาท เพื่อล็อกผลการแข่งขันล่วงหน้าให้มีประตูเกิดขึ้นในเกมนี้เกิน 3 ประตูขึ้นไป ก่อนผลจบลงด้วยการเสมอกัน 2-2 เป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้

 

คู่ที่ 4 แมตช์การแข่งขันระหว่าง ราชนาวี พบ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด วันที่ 23 ก.ย. ได้มีการว่าจ้างนักกีฬาจำนวน 4 รายให้กำหนดผลการแข่งขันให้ครึ่งแรกมีประตูมากกว่า 2 ประตู โดยมิได้มีการระบุจำนวนเงิน แต่เมื่อจบครึ่งแรกนั้น เอสซีจี เมืองทองฯ นำอยู่ 1-0 ทำให้ผลไม่เป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา กล่าวว่า เราพยายามรวบรวมหลักฐาน และตามสืบเรื่องนี้มานานพอสมควร เนื่องจากกีฬาฟุตบอลเป็นที่ครหาสงสัยมาตลอดว่ามีการล้มบอลหรือไม่ เรื่องนี้มีผลกระทบร้ายแรงต่อวงการฟุตบอลไทย เพราะการทำทีมบอลแต่ละทีมต้องใช้เงินมหาศาลในการซื้อนักเตะ จ่ายค่าจ้างนักเตะ แต่กลับมาโดนคนอื่นซื้อตัวนักเตะให้ล็อกผลการแข่งขันโดยที่เจ้าของทีมไม่รู้ด้วยซ้ำ เป็นการเอาเปรียบที่ไม่น่าให้อภัย ซึ่งแต่ละครั้งจะเปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มทุน และขบวนการพวกนี้ยังอยู่ และเป็นกลุ่มที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งเราจะพยายามสืบพยานหลักฐานเพื่อขยายผลต่อไป

พล.ต.อ.จักรทิพย์ เผยอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 12 คน โดนจับมาสอบสวนหมดแล้ว และมีการประกันตัวออกไป จากนี้ว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งโทษทางอาญาจะอยู่ในหมวดที่ 8 มีอยู่ 5 มาตรา ดังต่อไปนี้ มาตรา 64 ผู้ใดให้หรือขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 65 ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเพื่อให้มีการกระทำการล้มกีฬา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 66 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือกติกาการแข่งขัน หรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 67 ผู้ตัดสินใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 68 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) ไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานหรือสิ่งอื่นใดตามคำสั่งของคณะกรรมการ (2) ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่

ส่วน พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า หลังจากที่เข้ามาทำหน้าที่นายกสมาคมมีคำถามจากสื่อมวลชน และแฟนบอล ถามเข้ามาถึงวงการฟุตบอลไทย และต่างประเทศนั้น มีการล้มบอลจริงหรือไม่ ซึ่งตนต้องการพิสูจน์ว่ามีจริงหรือไม่ จึงมาปรึกษาพล.ต.อ.จักรทิพย์ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันมาเกือบปี ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อการจับกุมในวันนี้

“ไม่เพียงแต่สมาคมฟุตบอล และตำรวจ เท่านั้น แต่เรายังได้รับความร่วมมือจากสปอร์ตเรดาร์ ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ช่วยสืบด้วยอีกทาง ซึ่งไม่เพียงดูจากผลการแข่งขัน แต่ยังลงลึกไปถึงรายละเอียดของนักเตะเป็นรายบุคคล ว่ามีประวัติอย่างไร โดยเรามีการประชุมร่วมกันมาตลอดแบบลับๆ จนมีทั้งพยานหลักฐานแน่ชัดจึงมาแถลง อยากบอกทุกคนเรื่องการล็อกผลการแข่งขัน ไม่ใช่เพิ่งมีเฉพาะช่วงนี้ แต่มันมีมานานแล้วเป็น 10 ปี”

“ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการใดๆ มีทั้งอดีตผู้บริหารสมาคม หรือผู้มีอิทธิพลในวงการกีฬาที่เกี่ยวข้องเริ่มจากขอร้อง บังคับ เสนอข้อแลกเปลี่ยน เพื่อกำหนดผล สร้างผลประโยชให้ตัวเอง พวกพ้อง ซึ่งการกระทำเหล่านี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการพัฒนาเป็นอาชีพ มีผลตอบแทนมากขึ้น มีทั้งเงินรางวัล เงินสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมถึงสปอนเซอร์ต่างๆ ต่อมายิ่งมีการพนันเข้ามาทั้งยังเข้าถึงง่ายทางเว็บไซต์ บุคคลเหล่านี้เอาประโยชน์การล็อกผลมาเล่นพนัน”

“มีคนถามว่าวงการฟุตบอลจะดูตกต่ำหรือไม่ถ้ามีการเปิดเผยเรื่องนี้ในวันนี้ อยากเปรียบว่าถ้าการล็อกผลเหมือนโรคร้ายในร่างกายเรา มันต้องมีการรักษา ต้องผ่าตัด ซี่งการผ่าตัดมันต้องเจ็บ ถ้าปล่อยไว้เรารอวันตาย เราประเมินแล้วมันมีผลดีมากกว่า เราจะไม่ยอมตายเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการพนันฟุตบอล ล้มบอลเข้ามาเกี่ยวข้องจนพัง”

พล.ต.อ. สมยศ เผยอีกว่า สำหรับขบวนการล้มบอลเหล่านี้ มีการจัดตั้งแบบครบวงจร มีทั้งนายทุนจากไทยและต่างประเทศ ทางเราได้สอบสวนผู้ที่อยู่ในข่าย และได้รับการเปิดเผยว่าเรื่องนี้มีมานานแล้ว บอกได้เลยว่ายังไม่หมดแค่ 12 คน ถ้ามีพยานหลักฐาน และพาดพิงถึงใครจะสืบสาวต่อ

“นอกจาก 12 คนนี้ เราได้เชิญคนอื่นๆ ที่เข้าข่ายเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของเรา ต้องมาดูตามพยานหลักฐานว่าจะสามารถดำเนินกฎหมายได้หรือไม่ ส่วนคนที่ตรวจพบว่าผิดจริง กำลังดูข้อบังคับของสมาคมฯว่าสามารถแบนห้ามลงแข่งขัน หรือทำหน้าที่ในวงการฟุตบอลตลอดชีวิตได้หรือไม่ ถ้าทำได้เราก็จะทำ”

พล.ต.อ.สมยศ เผยอีกว่า ขณะนี้กำลัง พล.ต.โท อำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาทสมาคมฟุตบอลฯ ร่างกฎข้อห้าม และบทลงโทษเกี่ยวกับกรณีแบบนี้ ขึ้นมา เนื่องจากในไทยยังไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามการล้มบอลในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน