หากย้อนเวลากลับไปเมื่อสักราว 10 ปีที่แล้ว น้อยคนในไทยที่จะรู้จักกีฬาฮอกกี้ ยิ่งจังหวัดทางภาคใต้ด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึง หากมีใครเอ่ยปากถามรับรองได้ว่าจะได้คำถามย้อนกลับมาว่ามันคือกีฬาอะไร

“โค้ชโป๊ะ”นิรุตต์ โว๊ะเนเน็ง อดีตนักกีฬาฮอกกี้ทีมชาติ ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่สมาคมฮอกกี้ตัดสินใจลาจากเมืองหลวงหลังรีไทร์เพื่อกลับมายัง ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส บ้านเกิดของตัวเอง ได้รับสายจากสมาคมฮอกกี้ให้ช่วยตั้งทีมฮอกกี้ขึ้นมาเนื่องจาก 14 จังหวัดภาคใต้ไม่มีทีมฮอกกี้เลยแม้แต่ทีมเดียว

“โค้ชโป๊ะ” เท้าความหลังว่า เมื่อตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะสร้างทีมขึ้นมาจึงเริ่มมองหานักกีฬาจากโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ โดยเน้นไปที่คนที่มีพื้นฐานกีฬาอยู่แล้ว แต่เมื่อรู้ว่าถูกชวนมาเล่นกีฬาใช้ไม้ไล่หวดลูกบอลใบเล็กๆ แข็งๆ ที่เรียกว่าลูกพัคเป็นส่ายหน้าไม่มีใครเอาด้วย

“สุดท้ายผมตัดสินเดินไปหลังห้องน้ำ แน่นอนว่าจะเจอกลุ่มเด็กเกเรทั้งหลายตั้งกลุ่มสูบบุหรี่จึงออกปากชวนให้มาลองเล่นฮอกกี้ด้วยกัน ซึ่งมีหลายคนหิ้วรองเท้ามาหาผมที่สนาม อย่างที่บอกเด็กเหล่านี้อาจจะพูดได้ว่าเด็กเหลือขออยู่ในกลุ่มเสี่ยงหมดทั้งเรื่องยาเสพติด กัญชา กระท่อม บุหรี่ มีบางคนเป็นถึงผู้ค้าด้วยซ้ำ แต่โชคดีที่กีฬาฮอกกี้ส่วนใหญ่แข่งในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ผมจึงถามว่าทั้งชีวิตคุณจะได้ไปกรุงเทพฯ ไหม ทุกคนตอบว่าคงไม่มีแน่ ผมจึงบอกว่าถ้าเล่นฮอกกี้ทุกคนจะได้ไป รวมถึงประเทศอื่นๆ แทบจะทั้งโลก แต่ขออย่างเดียวเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อนุโลมเรื่องบุหรี่ ซึ่งได้รับการตอบรับไม่น่าเชื่อจากเด็กที่ไม่มีใครเอา หันมาเล่นกีฬาอย่างจริงจัง จากที่วิ่งได้ไม่ถึง 10 นาทีสามารถวิ่งต่อเนื่องได้ถึงครึ่งชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก”

จากการเริ่มต้นที่มีเด็กเพียง 16 คน แถมบางคนตกอยู่ในสายตาของตำรวจและรอวันรวบเข้าซังเตกลายเป็นนักกีฬาและมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัด เห็นสิ่งสวยงามนอกเหนือจากป่าเขาและเสียงปืนในพื้นที่สีแดงความมั่นคง เป็นที่มาของเรื่องเล่าปากต่อปากจนพ่อแม่ผู้ปกครองยอมรับส่งเสริมลูกหลานตัวเองให้เล่นฮอกกี้ “โค้ชโป๊ะ” จึงมีแนวคิดตั้งสโมสรฮอกกี้นราธิวาสขึ้นมาในวันที่ 8 พ.ค.2552 นั่นหมายความว่าปีหน้าสโมสรแห่งนี้จะครบรอบ 10 ปีพอดิบพอดี

สโมสรแห่งนี้ใช้เวลาถึง 3 ปีจึงสร้างความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลระดับประเทศมาครองได้จากที่ไม่เคยมีผลงานอะไรในเวทีระดับประเทศ จนวันนี้ฮอกกี้กลายเป็นฮีโร่ของชุมชน ทุกคนอยากเข้ามามีส่วนร่วม แต่กฎเหล็กคือถ้าอยากเล่นคุณต้องเรียนหนังสือไม่ว่าจะเป็นเรียนในโรงเรียน หรือเรียนในปอเนาะ ขอแค่ให้เรียนสโมสรแห่งนี้พร้อมต้อนรับ อีกอย่างนอกจากที่เคยอนุโลมเรื่องบุหรี่ ทุกวันนี้ห้ามทุกอย่าง ที่สำคัญห้ามมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

“โค้ชโป๊ะ” เล่าว่าเมื่อก่อนเคยต้องนั่งรอเด็กที่สถานีรถไฟเพื่อไปแข่งเพราะเด็กออกจากบ้านไม่ได้เนื่องจากมีการสู้รบระหว่างผู้ก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังต้องคอยรับฟังข่าวว่าหลังจากซ้อมเสร็จเด็กๆ จะกลับถึงบ้านปลอดภัยหรือไม่โดยเฉพาะช่วงที่มีความรุนแรงหนักๆ นักกีฬาบางคนต้องขับรถฝ่ากองระเบิดแสวงเครื่องเพื่อกลับบ้านยังดีที่ไม่มีใครประสงค์ร้ายกับเด็กเหล่านี้ ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องยาเสพติดในเด็กพื้นที่แทบจะไม่เหลือให้เห็นเพราะทุกคนอยากเดินตามรอยรุ่นพี่เป็นฮีโร่ของน้องๆ จนทุกวันนี้ “โค้ชโป๊ะ” สามารถขับรถเข้าพื้นที่ได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่ต้องกังวลความปลอดภัย เพราะทุกบ้านทุกคนรู้ดีว่านี่คือคนที่สร้างคนพื้นที่ให้มีที่ยืนบนสังคมไทย

นิรุตต์ โว๊ะเนเน็ง หัวหน้าโค้ชฮอกกี้นราธิวาส

เวลาผ่านพ้นจากทีมที่ไม่มีใครสนใจกลายเป็นทีมเต็ง 1 ใน 4 ของประเทศในทุกระดับ นักกีฬาของสโมสรฮอกกี้นราธิวาสกลายเป็นคนเนื้อหอมมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพร้อมเปิดโอกาสให้หากต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาไล่ตั้งแต่เหนือสุดของประเทศไล่มาจนล่างสุด ที่เหนือกว่านั้นที่นราธิวาสแห่งนี้ที่หลายคนไม่อยากมาถึงเพราะเรื่องความไม่สงบสามารถสร้างนักกีฬาระดับทีมชาติไม่เคยขาด ถ้าจะนับหัวคงพูดได้ว่าแทบจะทุกคนในทีมชาติไทยผ่านการสร้างจากนราธิวาสทั้งสิ้นขนาดทีมจากมาเลเซียซึ่งเป็นเต้ยฮอกกี้อาเซียนต้องเชิญ ต้องขอมาอุ่นเครื่องไม่เคยขาด

กีฬาชนิดนี้อาจยังไม่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป แต่มีประโยคหนึ่งที่สะท้อนความเป็นจริงของเด็กๆ แดนใต้ “คุณซิ่งมอเตอร์ไซค์ คุณไปได้แค่ไม่กี่อำเภอหรือเต็มที่ไม่กี่จังหวัด แต่ถ้าคุณถือไม้ฮอกกี้คุณสามารถไปได้ทั่วโลก” จากเด็กที่ไม่มีใครเอาแม้แต่พ่อแม่ตัวเองกลายเป็นคนที่ทุกสถาบันทั่วประเทศจองตัวตั้งแต่ยังอยู่มัธยมต้นด้วยซ้ำ

ฮอกกี้อาจไม่ใช่กีฬาเบอร์หนึ่งของประเทศหรือของทั่วโลก แต่กีฬาฮอกกี้เป็นหมายเลขหนึ่งของน้องๆ ในพื้นที่ไร้โอกาสทางภาคใต้ที่หวังโอกาสสร้างชีวิตของตัวเองไปแล้ว บางครั้งกีฬาให้อะไรมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน