นายระพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความเห็นเกณฑ์การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ และคาดว่าจะสรุปออกเป็นเกณฑ์บังคับได้อย่างช้าสิ้นเดือนมิ.ย. 2561 หลังจากนั้น ผู้ที่ต้องการเสนอขายโทเคนดิจิทัลมายื่นเรื่องให้ ก.ล.ต. พิจารณาได้ ในระหว่างนี้ไม่สามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลจนกว่าจะมีประกาศหลักเกณฑ์ออกมา

สำหรับสาระสำคัญของเปิดรับฟังความเห็น จะมีทั้งรายละเอียดของผู้ที่จะออกขายโทเคนดิจิทัล ต้องมีตัวตน มีข้อมูลโครงการที่จะไปดำเนินการ ซึ่งการออกขายโทเคนดิจิทัลถือว่าไม่ใช่เป็นตลาดทั่วไป จะจำกัดให้นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนไฮเน็ตเวิร์ก ส่วนประชาชนจะมีการจำกัดวงเงินในการซื้อแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยง

“การลงทุนโทเคนดิจิทัลเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมีความเสี่ยงสูง ต้องเข้าใจเทคโนโลยี เป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่าจะสร้างกำไรผลตอบแทนได้หรือไม่ จึงเป็นการเก็งกำไรล้วนๆ ในต่างประเทศพบว่าบริษัท 100 แห่ง เจ๊งถึง 90 แห่ง ในส่วนที่ผ่านการพิจารณาของ ก.ล.ต.ในอนาคตก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เจ๊งหรือเจ๊งลดลง เพียงแต่เป็นการยืนยันว่าผู้ประกอบการมีตัวตน มีความเป็นไปได้ในการลงทุนระดับหนึ่ง และเป็นการแยกการหลอกลวงนักลงทุน ซึ่งก.ล.ต.จะพยายามเตือนนักลงทุนว่า สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง ถ้าไม่เข้าใจอย่าลงทุน หากพบว่ามีใครการันตีผลตอบแทนการลงทุนให้ ให้เชื่อได้เลยว่าเป็นพวกต้มตุ๋นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่แน่นอน”นายระพี กล่าว

นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร เปิดเผยว่า การเก็บภาษีธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทของรายได้ กำไรและส่วนแบ่งที่เกิดจากโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอเรนซี่ และส่วนต่างที่เกิดจากการโอน บุคคลธรรมดาจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ทุกครั้งที่มีการดำเนินการธุรกรรม แต่จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต เพื่อบรรเทาภาระภาษี ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะเสนอ ครม. เก็บภาษี ณ ที่จ่ายกับนิติบุคคลในอัตรา 15% แต่จะไม่ได้รับการยกเว้นแวตเหมือนกับบุคคลธรรมดา ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระภาษี แต่เป็นการเก็บภาษีให้มีความชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ การกำหนดให้มีการเก็บภาษี ไม่ได้ต้องการเพิ่มภาระภาษีให้กับนักลงทุน แต่ต้องการสร้างความชัดเจนตามกระบวนการกฎหมาย ว่าทรัพย์สินใด เงินได้ประเภทใด ต้องเข้าข่ายเสียภาษี ส่วนการประเมินว่าการเก็บภาษีจากการซื้อขายเงินดิจิทัลว่าจะเป็นเท่าใดนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พระราชกำหนดฯ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2561 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 14 พ.ค. 2561) เป็นต้นไป ซึ่งพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม และเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจและเกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน