นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยมีคณะกรรมการ 1 ท่านลาประชุม

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ายังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ ที่มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ส่วนคณะกรรมการอีก 1 ท่าน เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนเพียงพอ และการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายนานต่อเนื่องอาจทำให้เกิดความเสี่ยง

เศรษฐกิจไทยภาพรวมขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการฟื้นตัวยังไม่ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง ทำให้กำลังซื้อจึงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการภาครัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้ากว่ากำหนด

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น กนง. จึงปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจใหม่ โดยปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จากเดิม 4.1% และปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2% จากเดิม 4.1% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก ที่คาดว่าในปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มเป็น 9% และปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 5% รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากภายนอกที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหากไม่รุนแรง ก็จะส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าเงินสหรัฐแข็งค่าส่งผลให้มีการไหลออกของเงินทุนพอสมควร ในส่วนของไทย จากการประเมิน เศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพต่างประเทศ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง หนี้ต่ำ การถือครองพันธบัตรนักลงทุนต่างชาติ ไม่ได้สูง แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นห่วงหรือไม่ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ กนง. ต้องติดตามต่อไป ซึ่งขณะนี้ ปัญหาเงินทุนไหลออก ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงิน ยังถือว่ามีกันชนในการทำนโยบายอยู่พอสมควร

“ปัญหาเงินทุนไหลออกของไทย ใกล้เคียงกันทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เมื่อพิจารณาผลกระทบค่าเงินก็อยู่ในทิศทางใกล้เคียงกัน ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเมื่อช่วงต้นปี ขณะนี้ก็มีทิศทางอ่อนค่าลงมาใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปี 2560 แล้ว การอ่อนค่าของเงินบาทก็มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ได้มีความกังวลแต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด”

ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ในส่วนของไทย กนง. ยังคงให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าตลาดเงินจะเริ่มมีการปรับตัว อัตราดอกเบี้ยหลายประเทศอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ กนง. ยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริง รวมทั้งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนจึงยังมีความจำเป้นอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน