น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2561 ปล่อยสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.7% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.1% ในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 7.5% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 8% โดยหลักจากสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และคาดว่าทั้งปี 2561 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ในช่วง 4-6%

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ แต่ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนที่มีสัดส่วนลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมโดยรวมมาอยู่ที่ 11% โดยไตรมาส 2 รายได้การโอนเงิน อยู่ที่ -11.2% จากไตรมาสก่อนที่ 8.8% ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 8.2% โดยพบว่าสัดส่วนปริมาณการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคารผ่านโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเป็น 90%

“กำไรระยะสั้นเหมือนจะดีขึ้น มองไปข้างหน้าแม้จะมีปัจจัยบวก เช่น รายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายกันสำรองลดลง แต่ปัจจัยด้านลบ เช่น ค่าใช้จ่ายลงทุนในดิจิทัล และค่าธรรมเนียมโอนเงินที่จะเริ่มทยอยลดลง ซึ่งในอนาคตรายได้จากค่าธรรมเนียมจะเข้าสู่ภาวะติดลบหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ส่วนอื่นมาชดเชยอยู่”น.ส.ดารณี กล่าว

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.93% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.92% โดยเอ็นพีแอลที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 3.39% จากไตรมาสก่อนที่ 3.38% ส่วนหนึ่งเป็นปัญหามาจากเคยได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก และเมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระ โดยจะเห็นเอ็นพีแอลจากราคาบ้านประมาณ 3-5% ซึ่งเชื่อโยงกับคุณภาพหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง แนวโน้มเอ็นพีแอลก็จะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

น.ส.ดารณี กล่าวว่า สำหรับทิศทางดอกเบี้ยขาขั้นนั้น จะกระทบต่อสัดส่วนหนี้เสียในอนาคตหรือไม่นั้น ธปท.เป็นห่วงกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีปัญหาเหลือรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อีกทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังมีการก่อหนี้สูง ไม่ใช่เฉพาะแค่การสร้างหนี้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่หนี้ประเภทอื่นเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่างจากที่บ้านที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีเกณฑ์การดูแลลูกหนี้และการปล่อยหนี้ที่เหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน