บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (4-6 ม.ค. 2560) เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในสัปดาห์ทำการแรกของปี 2560 โดยทดสอบระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ ก็เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าตามการปรับโพสิชั่นของนักลงทุนก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ รวมถึงแรงขายเมื่อเทียบกับเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนประจำวันในระดับที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ สำหรับในวันศุกร์ (6 ม.ค. 2560) เงินบาทอยู่ที่ 35.68 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ธ.ค. 2559)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ม.ค. 2560) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (ซึ่งรวมถึงนางเจเน็ต เยลเลนประธานเฟด) และการแถลงข่าวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนธ.ค. สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์ค่าเงินหยวน และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น หลังปีใหม่ โดยมีแรงหนุนจากการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,571.48 จุด เพิ่มขึ้น 1.85% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 107.32% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 65,220.57 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 632.90 จุด เพิ่มขึ้น 2.70% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยเปิดทะยานขึ้นในวันพุธ ก่อนที่จะขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางการปรับขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง สวนทางกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังบันทึกการประชุมเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ม.ค. 2560) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,535 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (เบื้องต้น) ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในยูโรโซน และข้อมูลการค้าของจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน