บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทประจำสัปดาห์ (24-28 ธ.ค. 2561) เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบแนว 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะชัตดาวน์หน่วยงานราชการของสหรัฐฯ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาปิดตลาด สิ้นปี 2561 ที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามแรงขายเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ แต่ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อระดับปิดตลาดวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ธ.ค.) ที่ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปี 2561 เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2561 ทั้งนี้ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปี โดยได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้เงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อความเสี่ยงของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา ท่ามกลางปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงติดลบทั้งหมดลงได้ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับมาถูกกดดันจากสัญญาณชะลอจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความกังวลต่อภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯ และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

เงินบาทปิดตลาดสิ้นปี 2561 ที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเพียง 0.1% จากระดับปิดตลาดปี 2560 ที่ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-4 ม.ค. 2562) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศช่วงต้นสัปดาห์ น่าจะอยู่ที่ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในเดือนธ.ค. 2561 ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของประธานเฟด สถานการณ์ชัตดาวน์ของสหรัฐฯ และประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยประจำสัปดาห์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,563.88 จุด ลดลง 1.97% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 14.51% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,805.43 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.91% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 356.44 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยตลอดสัปดาห์ อย่างไรก็ดี แรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน และการทำ Window dressing ช่วยหนุนดัชนีฯ ให้สามารถฟื้นตัวขึ้นในวันทำการสุดท้ายของปี 2561

สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปี 2561 SET Index มีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1,546.62-1,852.51 จุด ในปี 2561 โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดสิ้นปี 2561 ที่ระดับ 1,563.88 จุด ลดลง 10.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นปี โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังต่อผลประกอบการไตรมาส 4/2560 อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางปัจจัยกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย สถานการณ์ที่เปราะบางของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ตลอดจนการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

ภาพรวมตลาดหุ้นในปี 2561 ตลาดหุ้นไทยลดลง 10.8% มาอยู่ที่ 1,563.88 จุด ณ สิ้นปี 2561

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-4 ม.ค. 2562) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธ.ค.ของหลายประเทศในเอเชียและยุโรป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน