เงินบาทแข็งค่าหลุด 31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ สถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือน มองการอ่อนค่าของดอลลาร์ฯ หนุนบาทแข็งค่าต่อในช่วงครึ่งปีแรก

เงินบาทแข็งโป๊กทุบสถิติ 9 เดือน – บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 31.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับต้นปี 2562 จากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แต่หากเทียบกับต้นปี 2562 แล้ว ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค รองจากรูเปียห์อินโดนีเซีย และทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ จากการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่บ่งชี้ถึงโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ลดทอนลง ส่งผลให้มีแรงเทขายดอลลาร์ฯ ออกมามาก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น ทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางปรับตัวแข็งค่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยตลาดยังคงให้น้ำหนักกับเรื่องปัจจัยการเมืองในประเทศสหรัฐฯ ทั้งเรื่องการผ่านร่างงบประมาณฯ เพดานหนี้สาธารณะที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมี.ค. ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะนำมาสู่ภาวะการหยุดทำการของหน่วยงานราชการ (ภาวะชัตดาวน์) อีกครั้ง รวมถึงมุมมองของตลาดต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีความกังวลว่าจะเกิดการชะลอตัวลงอย่างมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงส่งผลกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่มีกำหนดในวันที่ 29 มี.ค. 2562 นี้ ภายใต้สถานการณ์ที่การถอนตัวเป็นไปอย่างไม่มีข้อตกลง (No deal) อาจจะส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้ามายังตลาดสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ซึ่งก็จะกลายเป็นปัจจัยหนุนให้ดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาท

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนอยู่ เนื่องจากมีตัวแปรทั้งในเรื่องการเมืองสหรัฐฯ และมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ปัจจัยการเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดี รวมถึงตลาดมีมุมมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมา และเฟด กลับมาส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการปรับดอกเบี้ย ต่างจะเป็นปัจจัยที่กลับมาหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้กลับมาแข็งค่าได้ ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เงินบาทพลิกทิศทางกลับมาอ่อนตัวลง

โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของสถานการณ์ของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องติดตามเหตุการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินถึงความเหมาะสมในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ในยามที่ตลาดมีความผันผวนสูงเป็นระยะๆ ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน