กสิกร คาดเงินบาทแข็งค่าหลุด 31 บาท/ดอลลาร์ ชี้บาทแข็งค่าสุดในอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้น 4.6% จับตาสงครามการค้า-เบล็กซิท-การเมืองไทย

คาดเงินบาทแข็งค่าหลุด 31 – นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา “จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 2562” ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย ว่า ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าหลุดระดับต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากพัฒนาการด้านการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เงินสกุลตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาทแข็งค่า ประกอบกับปัจจัยฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยโดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากสหรัฐ กลับมาลงทุนในไทย รวมทั้งตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าสุดในอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้น 4.6% รองมาเป็นค่าเงินหยวน ของจีน แข็งค่า 2.6% และเงินรูเปียะ อินโดนีเซีย แข็งค่า 2.4%

อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงกลางไตรมาส 2 หรือหลังเทศกาลสงกรานต์ของไทย ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลท่องเที่ยวที่หมดลง รวมถึงเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมามีการจ่ายปันผลประมาณ 87,000 ล้านบาท โดยจะมีผลให้เงินไหลออกไปต่างประเทศบางส่วน ประกอบกับอาจจะมีผู้ที่ถือเงินบาทในบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non-resident-baht) ขายเงินบาทออกมาและถือในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงประมาณ 1-2% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยยังคงเป้าหมายค่าเงินบาทในปลายปีนี้ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน น่าจะมีทางออกที่ดีขึ้น ขณะที่สถานการณ์การแยกตัวออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบล็กซิท) น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ให้ชะลอตัวลงอีก ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ จะกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุน

สำหรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้ จะขยายตัวที่ 4% การส่งออกขยายตัว 4.5% และเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 0.8% แม้ว่าขณะนี้การส่งออกของไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของไทยลดลง โดยสัดส่วนการส่งออกไทยในตลาดโลกเริ่มถดถอยลงเล็กน้อยจาก 1.54% มาอยู่ที่ 1.5% ประกอบกับจะรอความชัดเจนเรื่องเจรจาสงครามการค้า เบล็กซิท และสถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ ว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้านโยบายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะปรับประมาณการณ์ใหม่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

“ธนาคารยังไม่ทบทวนการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคงจะรอช่วงใกล้ๆ ครึ่งปีแรก หลังเส้นตายต่างๆ ผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามการค้า เบล็กซิท และการเลือกตั้งในประเทศของไทย ซึ่งจะทำให้เห็นภาพต่างๆ ชัดเจนขึ้น”นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน