บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (20-24 ก.พ.) เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง โดยเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ท่ามกลางแรงกดดันของเงินดอลลาร์ฯ จากการที่ตลาดยังคงไม่เชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนหน้า แม้ว่าบันทึกการประชุมเฟดจะยังคงบ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขาย หลังรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ออกมากล่าวว่า มาตรการ/นโยบายใดๆ ที่รัฐบาลปธน. ทรัมป์ นำมาใช้นั้น จะมีผลที่ค่อนข้างจำกัดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ สำหรับในวันศุกร์ (24 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27 ก.พ.-3 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.90-35.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยอาจต้องจับตาถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสภาคองเกรส (28 ก.พ.) และสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลเดือนม.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนธ.ค. และจีดีพีประจำไตรมาส 4/59 (รายงานครั้งที่ 2) นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทย และ ดัชนี PMI ของจีนและยุโรปด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง หลังนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสัญญาณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,564.59 จุด ลดลง 0.84% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลง 19.17% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,473.52 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 621.39 จุด ลดลง 2.05% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบัน แต่ดัชนีปรับลดลงในวันอังคารจากการปรับฐานของหุ้นขนาดใหญ่ จากนั้น ดัชนีปรับขึ้นต่อในวันพุธตามตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งสัญญาณเกี่ยวกับมาตรการปรับลดภาษี ก่อนที่ดัชนีปรับลดลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยนักลงทุนรอประเมินถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อสภาคองเกรส วันที่ 28 ก.พ. ว่าจะมีการพูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมหรือไม่

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27 ก.พ.- 3 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสภาคองเกรส และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลการค้า จีดีพีไตรมาส 4/2559 (รายงานครั้งที่ 2) และข้อมูลภาคการผลิต ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตของญี่ปุ่น และดัชนี PMI ของจีนและยุโรป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน