น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของกระทรวงการคลัง หลังเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย และดัชนี MSCI ได้มีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยรอบใหม่จากเดิม 2.5% เป็น 3% มีผลปลายเดือนพ.ค. 2562 รวมทั้งการคาดหวังจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงกดดันในช่วงนี้ยังคงอยู่ในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีความไม่แน่นอนขาดความชัดเจนว่าจะตกลงกันได้เมื่อใด โดยต้องรอถึงเดือนหน้าวันที่ 28-29 มิ.ย.ในการประชุมผู้นำ G20 ที่ผู้นำสหรัฐและจีนจะพบปะกัน ล่าสุดสหรัฐเรียกร้องญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหวังลดยอดขาดดุลการค้าซึ่งอาจเป็นสงครามการค้าคู่ใหม่ ประกอบกับปัจจัยลบภายในจากการที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และเป้าส่งออกในเดือนก.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาในวันที่ 14 พ.ค. อียู เปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมมี.ค. และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจพ.ค. สหรัฐ เปิดเผยราคานำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย. ส่วนกสทช.นำร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เผยแพร่ในเว็บไซต์ วันที่ 15 พ.ค. กำหนดวันสุดท้ายในการส่งงบงวดไตรมาส 1/2562 ของบจ. และจีน เปิดเผย การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนเม.ย. การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. อียู เปิดเผย GDP ไตรมาส 1/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2) สหรัฐ เปิดเผย ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ดัชนีภาคการผลิต เดือนพ.ค. การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. สต๊อกสินค้าภาคธุรกิจเดือนมี.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ค. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ ส่วนวันที่ 16 พ.ค. สหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนเม.ย. และดัชนีการผลิตเดือนพ.ค. และวันที่ 17 พ.ค. อียู เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. สหรัฐ เปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเม.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และ วันที่ 20 พ.ค. สภาพัฒน์ แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2562

ด้านนายสรรพกัณฑ์ ปัมทบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนในกรอบกว้างจากสัปดาห์ก่อนจากความไม่ชัดเจนของสงครามการค้าสหรัฐและจีน ขณะที่ปัจจัยการเมืองคาดจะมีความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล คาดดัชนี SET จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,625-1,665 จุด

ดังนั้นแนะนำลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ SE-ED, COL, LPN, PSH, SPALI, QH, ROBINS, BJC, CENTEL และ ERW

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ผลการประชุมลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้ เนื่องจากทางจีนไม่ยอมรับสถานการณ์เจรจาบนคำขู่และการคุกคามจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐประกาศใช้ทั้งก่อนและระหว่างการพูดคุยได้ ทำให้การพบปะกันอีกครั้งจะเกิดขึ้นที่ประเทศจีน แต่ยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัดว่าจะเป็นเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม ฝั่งจีนยังไม่ออกมาตรการตอบโต้การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐอย่างที่ระบุไว้ก่อนหน้า

อีกทั้งล่าสุดทางการสหรัฐฯเตรียมเพิ่มรายชื่อประเทศที่ต้องถูกตรวจสอบการเข้าแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนเพื่อประโยชน์แก่การส่งออกมายังสหรัฐฯจากเดิม 12 เป็น 20 ประเทศ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากที่นักลงทุนรอดูการตอบสนองของจีนต่อความล้มเหลวจากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มความรุนแรงของภาวะสงครามการค้าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก่อน ส่งผลให้ราคาทองคำยังคงแกว่งอยู่ในกรอบ 1,275-1,290 ดอลลาร์ ต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศมาตรการโต้กลับจากจีนหรือมีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ

ส่วนค่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์ แนะนำให้เก็งกำไรราคาทองคำแบบ swing trade ในกรอบจำกัด โดยเน้นปิดทำกำไรเร็ว เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน