นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST มองตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (13-17 มี.ค.) ว่า ตลาดอยู่ในช่วงคอยผลประชุม FOMC แม้ตลาดจะซึมซับเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว แต่ตัวแปรสำคัญ คือ “ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ” ที่มีผลต่อ Fund Flow และ QE ของธนาคารกลางแต่ละแห่งที่เป็นตัวหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก

ขณะเดียวกันช่วงนี้ข่าวบวกต่อตลาดมีค่อนข้างน้อย บริษัทหลายแห่งทยอยขึ้นเรื่องหมาย “XD” (สัปดาห์นี้ 48 ตัว ; สัปดาห์หน้า 81 ตัว) และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า $50 เหรียญ บล.KTBST มองว่าการพักตัวของตลาดยังจะดำเนินต่อในสัปดาห์นี้ แต่จะมีแรงซื้อกลับในบางวัน โดยวันพฤหัส (16) ซึ่งตลาดหุ้นเอเซียและยุโรปจะรับรู้ผลประชุม FOMC แต่น่าจะไปให้ความสนใจในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อๆ ไปมากกว่า

ซึ่งตัวแปรที่จะมีผลต่อทิศทางตลาด นอกจากการประชุม FOMC จะเป็นราคาน้ำมัน , การที่ตลาดให้ GL ชี้แจงเรื่องการปล่อยกู้ฯ (13 มี.ค.) , การพิจารณาอนุมัติร่างกฎหมาย BRExit (13) , ประชุม FOMC (15) , เลือกตั้งทั่วไปของเนเธอร์แลนด์ (15) , ประชุมนโยบายการเงิน BOJ และ BOE (16) , ประชุมผู้ผลิตน้ามัน (17)

ส่วนสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) ภาพตลาดหุ้นจะเป็นลักษณะ sideway แต่มีโอกาสที่ดัชนีฯจะเริ่มกลับทิศทางเป็นบวกได้ จากแรงซื้อที่เริ่มกลับเข้ามาในตลาด ในลักษณะของ Bargain Hunter คือซื้อเพราะราคาลงมามากแม้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม ตัวแปรสาคัญๆ ช่วง 20-24 มี.ค. ผลการประชุมผู้ผลิตน้ำมัน ที่ประชุม 17 มี.ค. จะมารับรู้ในสัปดาห์นี้

สำหรับกลยุทธ์ลงทุน การชะลอการลงทุน (ขายทำกำไร) ของนักลงทุนหลังตลาดมีปัจจัยเสี่ยงหลายตัว ไม่เพียงแต่เรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะมีเรื่องนโยบายการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน การเลือกตั้งของหลายประเทศในยุโรป แต่หุ้นส่วนใหญ่จะขึ้นเครื่องหมาย XD ซึ่งหมายความว่าตลาดจะหมดข่าวเล่นหรือ sideway ไปช่วงหนึ่งด้วยระดับราคาหุ้นตัวหลักๆที่ลงมาแบบนี้ เราแนะนำเป็นให้ถือ (Hold) หรือรอดู (Wait & See) การตอบรับของตลาดหลังทราบผลประชุม FOMC แม้แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ จะเป็นตัวกดดัชนีฯไว้ แต่ราคาหุ้นหลายๆ ตัวที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว หรือเป็นบวกจากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งหุ้นที่อิงภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่ราคาปรับตัวลงมา เรามองเป็นจังหวะในการเก็บหุ้นเหล่านั้น หากดัชนีฯปรับตัวลงมาลึกๆ (1,521-1,530 จุด) หุ้นที่ได้รับปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยปรับเป็นขาขึ้น และค่าเงินสหรัฐฯแข็งค่าขึ้น จะกลับมาเป็นบวกต่อหุ้นที่มีพอร์ตลงทุนเป็นตราสารหนี้ (บริษัทประกันฯ) หุ้นกลุ่มส่งออก

บล.KTBST ประเมินดัชนีฯ ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ จะผันผวนในกรอบ 1,521-1,566 จุด หุ้นที่คาดว่าจะได้รับความสนใจได้แก่ BANPU , KCE , BLA , TWPC , AAV, BDMS , HTECH , SNC , VGI

ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคาร แม้จะบวกจากดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ แต่ดอกเบี้ยของไทยอาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงปรับขึ้นตาม แต่ด้วยเป็นกลุ่มที่อิงกับทิศทางตลาดโดยตรง หากนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นต่อ จะเป็นลบต่อหุ้นกลุ่มนี้ จึงเป็นกลุ่มที่มองได้ทั้งบวกและลบหุ้นในกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงจากแรงขายของนักลงทุน จะเป็นหุ้นบางตัวในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (ผู้ผลิตน้ามัน) หุ้นที่ขึ้นมี Dividend Yield สูงๆ และขึ้น “XD” ไปแล้ว และกลุ่มการเงิน (ที่ไม่ใช่ธนาคาร) ที่เคยได้ประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินต่าในช่วงดอกเบี้ยขาลง

นายวิน กล่าวว่า ทั้งนี้หาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง คือจาก 0.50-0.75% เป็น 0.75-1.00% ตลาดหุ้น เอเชียย-ยุโรป ในวันพฤหัส (16) ไม่น่าจะมีปฎิกิริยาต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อาจมีผลจากถ้อยแถลง ในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ทั้งนี้ Fed เหลือการประชุมในปีนี้อีก 6 ครั้ง (3 พ.ค., 14 มิ.ย. , 26 ก.ค. , 20 ก.ย. , 1 พ.ย. และ 13 ธ.ค.) ความตกใจของตลาดจะขึ้นกับจำนวนครั้งของการขึ้นดอกเบี้ย ยิ่งมากยิ่งเป็นลบ ขณะที่ค่าเงินดอลล่าร์จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผลต่อตลาด เพราะช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าผิดปกติ หากดอลลาร์ปรับขึ้นจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น และหุ้นในกลุ่มส่งออกของไทย

ขณะที่การลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่ออกมามากกว่าที่ตกลงที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน แต่การผลิตน้ำมันและสต๊อก น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องกลายมาเป็นลบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมากกว่า เราคาดว่าราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จะยังถูกกดดันต่อในสัปดาห์นี้แต่จะมี technical rebound ให้เห็นในบางวัน แต่การร่วงลงของราคาสินค้ากลุ่มนี้ ทำให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวลงมาด้วย เป็นจังหวะเข้าซื้อหุ้นในบางตัว อาทิ กลุ่มถ่านหิน กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน หรือกลุ่มที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วคือกลุ่มเดินเรือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน