บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (13-17 พ.ค. 2562) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ก่อนจะดีดตัวกลับมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดในประเทศรอติดตามประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับรายงานนโยบายค่าเงินของประเทศคู่ค้าโดยกระทรวงการคลังสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางความไม่แน่นอนของประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ประกอบกับเงินดอลลาร์ มีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ดีกว่าที่คาด ในวันศุกร์ (17 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.74 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.60-32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยจุดสนใจในประเทศ น่าจะอยู่ที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2562 การส่งออกเดือนเม.ย. และสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทิศทางค่าเงินหยวน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. รวมถึงบันทึกการประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.)

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,608.11 จุด ลดลง 2.46% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,441.42 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 5.06% มาปิดที่ 339.33 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจีนประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ และสหรัฐ ประกาศมาตรการที่พุ่งเป้าไปที่การกีดกันบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน ประกอบกับมีแรงกดดันจากการขายสุทธิหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงรอติดตามประเด็นสงครามการค้า และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศอย่างใกล้ชิด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2562 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนเม.ย. ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) สำหรับเดือนพ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงจีดีพีไตรมาส 1/2562 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน