บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (13-17 มี.ค.2560) เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลหลังการประชุมเฟด โดยแม้เฟดจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.75-1.00% เนื่องจาก dot plot ชุดใหม่ยังคงบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจถูกปรับขึ้นรวม 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้ตลาด/นักลงทุนบางส่วนที่รอสัญญาณคุมเข้มมากขึ้นกว่าเดิม ผิดหวัง สำหรับในวันศุกร์ (17 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.80-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณเกี่ยวกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. นอกจากนี้ จุดสนใจของตลาดอาจรวมไปถึงตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษ และดัชนี PMI เดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้น หลังเฟดส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความกังวลปัจจัยการเมืองในยุโรปที่คลายตัวลง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,560.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.37% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 9.67% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 47,156.40 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 591.47 จุด เพิ่มขึ้น 0.77% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์ ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มการเงิน ก่อนที่จะฟื้นตัวในวันอังคารจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร (รับข่าวโครงการวางเครื่อง EDC) ประกอบกับมีการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ แต่ดัชนีปรับลดลงอีกครั้งในวันพุธ จากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มเช่าซื้ออีกครั้ง จากนั้น ดัชนีปรับตัวขึ้นต่อในช่วงปลายสัปดาห์ รับมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด รวมทั้งแรงหนุนจากผลการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ที่พรรครัฐบาลเดิมสามารถเอาชนะพรรคฝ่ายขวาที่ต่อต้านยุโรปไปได้อย่างท่วมท้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟด ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนี PMI (เบื้องต้น) ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ในยูโรโซน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน