นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ค่าเงิน และตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้าที่เห็นในครึ่งปีแรกน่าจะมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมองว่าภาพรวมการส่งออกของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนแนวโน้มค่าเงินธนาคารยังคงประเมินทิศทางค่าเงินบาทถึงสิ้นปีนี้ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในปลายเดือนก.ค.นี้ ส่วน ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ล่าสุดมีท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทำให้ตลาดคาดว่ามีแนวโน้มที่อีซีบีจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงก.ย.ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินยูโรอ่อนค่า และมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้น ในขณะที่ประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยปีนี้เชื่อว่าจะยังไม่ปรับลง

ส่วนมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการลดวงเงินการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ Non resident : NR เปิดบัญชีไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทย ลงจาก 300 ล้านบาท 200 ล้านบาทต่อรายต่อประเภทบัญชี ได้ผลดีในระดับหนึ่ง สะท้อนจาก ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ต่างชาติถือครองลดลงจาก 1.2 แสนล้านบาท เหลือ 8 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ไม่ได้มองการเก็งกำไรค่าเงินอย่างเดียว ยังให้ความ

นายกอบสิทธิ์ ยังได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่า ธนาคารยังคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 3.1% โดยครี่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้ 3% ทั้งนี้คงต้องจับตาการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประกอบกับครึ่งปีหลังมีสถานการณ์ของไทยที่เปลี่ยนไป คือ หลังไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ก็เริ่มดีขึ้น ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างประเทศจะปรับน้ำหนักการลงทุนในไทยมากขึ้น

ทางด้านนายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยโดยรวม และปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยใน 12 เดือนข้างหน้าเป็น 1,775 จุด จากเดิม 1,725 จุด โดยมองว่า ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 68 จุด ซึ่งทำให้ อัตราส่วนผลตอบแทนของราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้ (PER) ของตลาดปรับเพิ่มขึ้นเป็น 16.22 เท่า ขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนตลาดยังคงเดิมที่ 4.2% ซึ่งสะท้อนว่าการปรับเพิ่มขึ้นของตลาดเป็นผลจากแนวโน้มขาลงของอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่รุนแรงขึ้น จนมีการใช้มาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างกว่ามาตรการภาษี และการพลิกกลับของแนวโน้ม อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน