บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (5-9 ส.ค. 2562) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์จากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ประกอบกับตลาดมีความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีนมากขึ้น เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ (แม้ว่าจะมีจังหวะอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ หลังกนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดลงมาที่ 1.50%) โดยเงินบาทน่าจะมีแรงหนุนบางส่วนจากแรงขายเงินดอลลาร์ ของผู้ส่งออก จังหวะการเข้าซื้อพันธบัตรไทยของต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ และทิศทางเงินดอลลาร์ ที่ยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ขณะที่ สกุลเงินในภูมิภาคบางส่วนเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากที่อ่อนค่าลงตามเงินหยวนในช่วงต้นสัปดาห์ ในวันศุกร์ (9 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.72 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 30.81 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ส.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-16 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.50-30.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดยังคงรอติดตามทิศทางค่าเงินหยวน สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และประเด็นเรื่อง BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาสินค้านำเข้า-ส่งออก ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดค้าปลีก และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค. ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,650.64 จุด ลดลง 2.02% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,053.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.03% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 1.54% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 357.63 จุด

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนตามแรงกดดันจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคารหลังกนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดในช่วงปลายสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-16 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,635 และ 1,625 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,675 และ 1,685 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์ในประเทศ พัฒนาการของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน รวมถึงประเด็นความเสี่ยง BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดค้าปลีกเดือนก.ค. รวมถึงผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน