บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (26-30 ก.ย. 2559) โดยความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท นั้น เงินบาทอ่อนค่าทดสอบระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับใกล้เคียงสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ตามสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกทั้งหมด และกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สอดคล้องกับแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเยอรมนี ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติก็กลับมาขายสุทธิในหุ้นและพันธบัตรไทยในช่วงท้ายๆ สัปดาห์ด้วยเช่นกัน สำหรับในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. เงินบาทอยู่ที่ 34.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.ย.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะยังคงอยู่ที่สัญญาณเกี่ยวกับดอกเบี้ยสหรัฐ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ รายจ่ายด้านการก่อสร้าง และยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน นอกจากนี้ ตลาดอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ปัญหาในภาคธนาคารของเยอรมนี และข้อมูล PMI ของอีกหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย นั้น ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง จากความกังวลเกี่ยวกับประเด็น Deutsche Bank โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,483.21 จุด ลดลง 0.65% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 22.25% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 39,769.73 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 551.74 จุด ลดลง 0.87% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารจากความกังวลต่อการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่ รวมทั้งภาวะหนี้เสียที่ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นในวันพฤหัสบดี จากแรงหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังโอเปกได้ข้อสรุปในการลดเพดานการผลิตน้ำมัน ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอีกครั้งในวันศุกร์ ตามตลาดหุ้นทั่วโลกจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็น Deutsche Bank ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,465 และ 1,445 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,500 และ 1,510 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การตอบสนองเกี่ยวกับประเด็น Deutsche Bank ของทางการยุโรปและเยอรมนี ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต (ISM Manufacturing) และข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ คงได้แก่ ดัชนี PMI ของเยอรมนีและยูโรโซน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน