ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 9,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากไตรมาส 3 ปีก่อน ส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เป็นผลจากการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ตามเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.7 ตามการลดลงของสินเชื่อ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.35 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 จากไตรมาส 3 ปีก่อน สะท้อนถึงวินัยการบริหารค่าใช้จ่ายของธนาคาร และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 41.9

ณ สิ้นเดือนก.ย. 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,001,445 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 จากสิ้นเดือนมิ.ย. 2562 จากการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง และการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ขณะที่เงินสำรองของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 183.4 ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.7 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2562 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสนับสนุนให้โครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 20.7 ร้อยละ 17.7 และร้อยละ 17.7 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนหดตัวสะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการชะลอลงของกิจกรรมการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวน้อยกว่าคาดจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน