นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสำหรับไตรมาส 2/2560 ยังมีแนวโน้มสามารถเติบโตได้ดีด้วยปัจจัยสนุบสนุนทั้งภายในและภายนอก แต่ทั้งนี้ยังคงต่อเผชิญกับปัจจัยกดดันจากประเทศ อาทิ นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มยุโรป รวมถึงการตัดสินใจขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตของโอเปก

แต่เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดหุ้นไทย ตลาดจะสามารถปรับตัวรองรับกับความเสี่ยงได้มากพอควร เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 SET Index ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า (underperform) ตลาดอื่นๆ โดยที่ตลาดเกิดใหม่ (ปรับขึ้น 11-13%) และตลาดที่พัฒนาแล้ว (ปรับขึ้น 4.5-6%) ซึ่ง SCBS มองว่าการปรับตัวของตลาดในไตรมาสที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงขาลงหากตลาดแกว่งตัวผันผวนในอนาคต

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเศรษฐกิจประเทศหลักๆ เริ่มขยายตัวในทิศทางสอดประสานกันเพื่อมุ่งสู่การเติบโตที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ และช่วยให้การส่งออกของไทยสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องด้วยเช่นกัน อีกทั้งแนวโน้มที่เงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าลงตามทิศทางการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศจะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออกอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ SCBS ยังคงเป้าหมาย SET Index สำหรับปี 2560 อยู่ที่ 1700 จุด ตามเป้าหมายเดิม ด้วยปัจจัยบวกของทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพและความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้ง อีกทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะมีส่วนสนับสนุนในตลาดหุ้นไทยมี Valuation สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับประมาณ +1SD ของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 ปี ของ SET Index ในช่วงอีกหนึ่งปีข้างหน้า ทั้งนี้เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวสะท้อนถึง upside 7.7% และอัตราส่วน PE ระยะ 12 เดือนข้างหน้าที่ 15 เท่า

สำหรับหุ้น Top Picks ประจำไตรมาส 2/2560 ที่ SCBS แนะนำนั้น อ้างอิงประเด็นการส่งออกที่ฟื้นตัวและแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยเลือกหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการค้าโลก ดังนี้ บมจ. บริษัท ดิ เอราวัณ (ERW) บมจ. จีเอฟพีที (GFPT) บมจ. ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) บมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน