แบงก์ชาติส่งสัญญาณบาทกลับทิศ หมดยุคแข็งค่า-เตรียมตัวอ่อน หลังนักลงทุนในตลาดโลกมองค่าบาทแข็งเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐาน เลิกใช้บาทเป็น Safe Heaven แนะผู้นำเข้า-ส่งออก รับมือความผันผวน

แบงก์ชาติส่งสัญญาณเงินบาทอ่อน – นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ไม่ได้สบายใจที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. ดำเนินการในหลายเรื่องที่จะพยายามชะลอการแข็งค่าของค่าเงิน เช่น ความเข้มงวดในการติดตามเงินที่ไหนเข้ามาเก็งกำไร เรื่องของนอนเรสซิเด้นท์บาท และการยืนยันตัวตนที่ชัดเจนของผู้ที่มาลงทุน ที่เป็นนอนเรสซิเด้นท์ ซึ่ง ธปท. ก็ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ถ้าเห็นความผิดปกติก็จะสอบถามไปยังธนาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอดูข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีเงินไหลเข้ามากๆ ธปท. ก็เข้าไปแทรกแซงตลาดในบางช่วง เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป และเมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้มีการผ่อนปรนการนำเงินเข้ามาของผู้ส่งออกและเปิดให้คนไทยที่เป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในต่างประเทศได้ รวมถึงการหักลบกลบหนี้กับภาระที่มีในต่างประเทศ ซึ่งมาตรการนี้เพิ่งดำเนินการก็อาจจะยังไม่เห็นผลเร็วนัก

นายเมธี กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในขณะนี้แนวโน้มตลาดได้เปลี่ยนไปจากเดิม คือ ค่าเงินของภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง นักลงทุนในตลาดโลกเลือกที่จะเปลี่ยนมุมมองในการมองทิศทางของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทด้วย จึงเห็นว่าในช่วงหลังๆ ค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่ง และจะมีทิศทางที่กลับทิศแล้ว ซึ่งไม่ได้มาจาก ธปท. เข้าไปแทรกแซง แต่เป็นการคาดการณ์ของตลาดเองที่มองว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้

“ถ้าไปดูโพสิชั่นของนอนเรสซิเด้นท์ จากเดิมที่เคย long ค่าบาท ก็เริ่มกลับ Short ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ จะเห็นว่าแรงกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มลดลง การเกินดุลมีแนวโน้มลดลง ส่วนผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา แม้จะไม่มีผลต่อค่าเงินบาทโดยตรง แต่ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของทิศทางค่าเงินบาทในช่วงต่อไป”

นายเมธี กล่าวอีกว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (yield curve) ของไทยยังต่ำกว่าสหรัฐอยู่ และเกือบจะต่ำที่สุดในเอเชีย รวมถึงอาเซียนด้วย ทำให้แรงดึงดูดที่จะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินคงน้อยลง โดยจากที่ทราบกันมาทั้งปีว่าการไหลเข้าของเงินที่เข้ามาลงทุนในหุ้นและพันธบัตรเป็นการไหลออกสุทธิ จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการเข้ามาเก็งกำไร นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของผู้ส่งออกนำเงินเข้ามาจากการเกินดุล รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังค่อนข้างเยอะ ซึ่ง ธปท. ก็ได้ผ่อนคลายให้ผู้ส่งออกแล้ว ก็คงจะนำเงินเข้ามาไม่มาก ก็จะลดแรงกดดันค่าเงินไปได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับประเด็นเรื่องทองคำที่คิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับลดลงไปค่อนข้างมาก การขายทองคำออกไปลดลงจนแทบจะไม่มีให้เห็นในช่วงนี้ ดังนั้นแรงกดดันจากการขายทองคำออกไปเพื่อรับเงินตราต่างประเทศเข้ามาก็น้อยลง ธปท. ก็ได้พูดคุยกับผู้ค้าทองคำรายใหญ่ ให้มีการค้าขายกันเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้นแนวโน้มในตลาดขณะนี้ไม่ได้ว่าบาทจะมีทิศทางแข็งค่าข้างเดียวเหมือนในอดีตแล้ว มีหลายนักวิเคราะห์บอกว่าให้ผู้นำเข้าต้องมีการทำประกันความเสี่ยง ไม่ใช่รอค่าเงินแข็งแล้วค่อยไปทำ เพราะหากมีการเปลี่ยนทางแรงขึ้นมาก็จะเป็นเรื่องเสียโอกาส

“ค่าเงินบาทแข็งค่าถึงจุดสูงสุดแล้วหรือไม่ อาจจะยังบอกไม่ได้ แต่ค่าเงินมีทิศทางการเคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น ไม่ใช่ทางเดียวเหมือนในอดีต เป็นไปตามบทวิเคราะห์ของหลายๆ ฝ่าย ที่มองว่าตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะค่าเงินบาทจะไม่ Safe Heaven เหมือนในอดีต ดูจากภาพรวมค่าเงินบาทก็แข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปค่อนข้างเยอะแล้ว ซึ่งนักลงทุนก็เริ่มคิดได้ว่าถ้าลงทุนในประเทศที่ค่าเงินแข็งไปทำไม เพราะโอกาสถูกตีกลับก็จะมีเยอะ” นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวอีกว่า ธปท. ดูตามสถานการณ์ซึ่งช่วงก่อนหน้าก็ยังไม่มั่นใจว่าค่าเงินบาทจะกลับทิศทางหรือไม่ แต่ตอนนี้มีความชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายสำนัก ก็คิดว่าโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมีมากขึ้น ส่วนค่าบาทจะอ่อนลงไปถึง 32-33 บาทนั้นเป็นเรื่องที่พูดได้ยาก แต่เคลื่อนไหวในทางอ่อนค่านั้นโอกาสจะมีมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ เหตุผลที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าไม่ควรลงทุนในเงินบาท เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่แทบจะไม่มีแล้ว และเห็นว่าอาจจะลงทุนในบาทมากเกินไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งท่าทีของ ธปท. ที่เอาจริงเอาจังในเรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี แนวโน้มค่าเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงก็ยังไม่น่าจะช่วยเรื่องการส่งออกได้มากนัก แต่อย่างน้อยก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกมองทิศทางในอนาคตว่าค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวในลักษณะที่อ่อนตัวลงได้มากขึ้น

ส่วนการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ธปท.ธนาคารพาณิชย์ และตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมส.อ.ท. นั้น ขณะนี้ ธปท. มีคณะทำงานซึ่งพูดคุยกับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อดูแลการป้องกันความเสี่ยง หรือบริหารจัดการความเสี่ยง หากเอกชนมีปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไร ธปท. ก็ได้รับฟังปัญหา และดูวิธีบริหารจัดการในหลายมุมให้ครบถ้วน รวมถึงมุมมองของเอกชนให้มาช่วยกันคิด ซึ่งธปท. ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เป็นการระดมความคิด และคาดว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน