นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ได้ให้นิยามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 เปรียบเป็น “ปีของหนูสองตัว” เนื่องจากในปี 2563 นี้ถือว่าเป็นนักษัตรปีหนูหรือปีชวด กล่าวคือจะมีหนูสองตัว คือมีทั้งด้านบวกและด้านลบ อย่างไรก็ดี ด้วยทั้งภาวะโอกาสและความเสี่ยงในปีชวด ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในปี 2562

โดยในด้านปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจในปี 2563 จะมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่ไทย โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยจะสามารถสร้างรายได้นอกภาคเกษตรให้ครัวเรือนไทย รวมถึงยังสนับสนุนให้การส่งออกเร่งตัวขึ้นได้

ส่วนที่สอง การวาดแผนการคลัง โดยจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากที่งบประมาณประจำปี 2563 ผ่านรัฐสภาในช่วงปลายเดือนม.ค. คาดว่านอกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแล้ว รัฐบาลอาจมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนหรือการลดภาษี ซึ่งจะเพิ่มกำลังซื้อให้คนชั้นกลางมากขึ้น อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตลอดทั้งปี แต่อาจใช้มาตรการผ่อนคลายอื่นเพิ่มเติมหรือผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อหรือแม้แต่ลดดอกเบี้ยลงอีกเพื่อหวังเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหากมีความจำเป็น

ในส่วนที่สาม การผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเยือนประเทศไทยมากขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งพลังจากการท่องเที่ยวยังช่วยส่งผ่านถึงการบริโภคสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร อาหารและเครื่องดื่มในช่วงที่กำลังซื้อคนในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ด้วย

ขณะที่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ขยายตัวต่ำกว่าคาดนั้น ความเสี่ยงแรก คือ การที่สถานการณ์บ้านล้นตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และอยู่ในพื้นที่นอกแนวรถไฟฟ้า ประกอบกับมาตรการคุมเข้มจากธปท. ในการปล่อยสินเชื่อบ้าน ที่อาจกระทบภาพรวมการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอของคนรายได้ระดับกลาง-ล่าง ในส่วนคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองที่ราคาสูงอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่อาจใช้เวลาในการขายนานกว่าในอดีตจากภาวะเศรษฐกิจที่โตช้าและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง

ความเสี่ยงที่สอง คือ ภาวะที่เงินบาทแข็งค่าโดยคาดว่าในปี 2563 มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทยังคงผันผวนในทิศทางแข็งค่าจากปัจจัยสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องและจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้รายได้ภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนการท่องเที่ยวนั้น แม้อาจกระทบการท่องเที่ยวบ้างจากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะสูงขึ้นตามเงินบาทที่แข็งค่า และเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ตามความต้องการเดินทางออกนอกประเทศโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

ความเสี่ยงที่สาม คือปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง แม้จะไม่ทวีความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนปรับตัวได้ แต่หากสงครามการค้าระอุขึ้นอีก จากภาษีที่สูงขึ้นหรือจากมีประเทศอื่นอีกที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ หรือหากสงครามการค้าลามไปสู่สงครามค่าเงินหรือสงครามเทคโนโลยี เศรษฐกิจโลกคงจะชะลอลงอีกซึ่งจะกระทบการส่งออกไทยได้

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านเสถียรภาพจากจากสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยอาจไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทำให้มองว่าธปท. น่าจะเลือกใช้การสนับสนุนให้เงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้บาทอ่อนค่าหรืออาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในอนาคต โดยคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน