บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (8-12 พ.ค.2560) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์ที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทระหว่างสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางของเงินเยนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนมิ.ย. นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ตามการปรับโพสิชันของนักลงทุน และน่าจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ บางส่วนจากฝั่งผู้ส่งออก สำหรับในวันศุกร์ (12 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดในประเทศน่าจะรอจับตาตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1/2560 ของไทย ขณะที่ ประเด็นที่น่าสนใจของสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ค. ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และการอนุญาตก่อสร้างเดือนเม.ย. และข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะติดตามสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯ ตัวเลขยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อและจีดีพีของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยดัชนี SET ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 1,537.43 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 1,543.94 จุด ลดลง 1.60% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 30.86% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 46,941.23 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 555.73 จุด ลดลง 4.94% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนี SET ลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ ท่ามกลางแรงกดดันจากผลประกอบการไตรมาส 1/2560 ของหลายบริษัทจดทะเบียน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก) ที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ประกอบกับมีแรงขายทางเทคนิค และตลาดยังขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ มากระตุ้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,515 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2560 ของไทย ปัจจัยการเมืองในสหรัฐฯ และ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขตลาดที่อยู่อาศัย ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกของจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อและจีดีพีของยูโรโซน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน