นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรือดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) ลง 0.250% เหลือ 7.125% และปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง 0.500% เหลือ 7.125% มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2560 การปรับลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภทในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ในเรื่องการลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ลง 0.50% ต่อปี เหลืออัตรา 7.12% ต่อปี มีผลวันที่ 16 พ.ค.นี้เป็นต้นไป รวมทั้งออกโครงการกรุงไทยช่วยเอสเอ็มอี 4.0 ภายใต้วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท แบ่งการดูแลลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท หรือมีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 20 ล้านบาท และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือมีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 20 ล้านบาท

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารประกาศลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.50% ต่อปี เหลือ 7.12% ต่อปี จากการปรับดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ ทำให้ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MLR) อยู่ที่ 6.25% ต่อปี และดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) 7.12% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2560

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ทั้ง MLR MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี มีผลวันที่ 16 พ.ค.เป็นต้นไป หลังจากปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวแล้วทำให้ดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.025% ต่อปี MOR อยู่ที่ 6.870% ต่อปี MRR อยู่ที่ 7.370% ต่อปี ซึ่งการปรับลดครั้งนี้ ทำให้ดอกเบี้ย MLR และ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ต่ำที่สุดในระบบ พร้อมออกมาตรการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องกว่า 20,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการแข่งขันให้กับลูกค้า

ด้านน.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การลดส่วนต่างดอกเบี้ยรายใหญ่กับรายย่อยตามนโยบาย รมว.คลัง ธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาในภาพรวม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่การปล่อยสินเชื่อต้องมองตามความเสี่ยง โดยที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีหลักการในการประเมินความเสี่ยงการให้สินเชื่อไว้ระดับหนึ่งแต่ก็ต้องถามว่าเพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการทำโครงสร้างการประเมินความเสี่ยงที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปใช้ซึ่งจะมีผลต่อส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้เร็ว และนำไปใช้ในลักษณะควบคุมโดยตรงกับธนาคารพาณิชย์ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน