นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อย ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี และน่าชื่นชม ซึ่งเป็นไปตามที่ รมว.คลัง ให้แนวคิดเอาไว้ แต่อีกมิติที่ควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อย นอกเหนือจากเรื่องดอกเบี้ย คือ การพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนทางการเงินในระยะยาว

ทั้งนี้ การพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างในระยะยาว ได้แก่ กระบวนการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอีที่ต้องการกู้เงิน จะต้องวางหลักประกัน ซึ่งอาจเป็นปัญหาทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระยะได้ยากขึ้น และหากพิจารณาประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ จะพบว่าไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มกลไกเรื่องหลักประกันเพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันซึ่งได้เปิดกว้างมากขึ้น และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อที่มีต้นทุนทางการเงินถูกลงได้มากขึ้น”

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ยังต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องความเสี่ยงในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีให้ลดต่ำลงด้วย ปัญหาในส่วนนี้เองที่ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ยากขึ้น โดยจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในหลายด้าน อาทิ ด้านเทคโนโลยี กลไก และตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี กรณีที่ธนาคารขนาดเล็กยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนนี้นั้น มองว่าเป็นเรื่องของต้นทุนในการแข่งขันซึ่งสะท้อนความเสี่ยงในการทำธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่แต่ละสถาบันการเงินจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน