นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ประเมินผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา น่าจะทำได้รวดเร็วกว่าการควบคุมการระบาดของโรคซาร์ส ที่เกิดขึ้นในปี 2546 เนื่องจากเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น และจีนมีบทเรียนจากโรคซาร์สแล้ว นอกจากนี้ ทางการจีนยังให้การตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยได้แจ้งไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใน 23 วัน หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ในขณะที่กรณีของโรคซาร์ส จีนพยายามปิดข่าวและรอถึง 86 วันก่อนจะเปิดเผยถึงการระบาด

นอกจากนี้ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังดูมีความรุนแรงน้อยกว่า โดยข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าโรคซาร์ส ที่มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวไทย โดยหากย้อนไปดูผลกระทบของการระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 ราย และเสียชีวิตเกือบ 800 รายทั่วโลก และส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยในช่วงไตรมาส 2/2546 หดตัวถึง 40% นำโดยนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนลดตัวลงแรงถึง 79%

“ในกรณีเลวร้ายหากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนายังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยรุนแรงกว่าการแพร่ระบาดของโรค SARS เนื่องจากนักท่องเที่ยวเอเชียที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากในอดีต โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด จากปี 2545 ที่มีสัดส่วนเพียง 7%” นายคมศรกล่าว

สำหรับผลกระทบในด้านการลงทุน ประเมินว่าราคาหุ้นไทยได้ปรับตัวลงมาสะท้อนผลกระทบไปมากแล้ว โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยกลุ่มท่องเที่ยว ปรับลดลงมาประมาณ 18% นับจากวันที่มีการค้นพบโรค ในขณะที่ปี 2546 ที่เกิดโรคซาร์ส ทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงเพียง 10% และหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลงตลาดหุ้นไทยก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับลดลง (ดาวน์ไซต์) จำกัด โดยปัจจุบันนักลงทุนยังคงติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 1,700-2,000 ราย/วัน หากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มนิ่ง และมีแนวโน้มกลับมาลดลง จะเป็นสัญญาณบวกที่จะทำให้ตลาดหุ้นดีดกลับได้อย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน