บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (15-19 พ.ค. 2560) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นท่ามกลาง sentiment ที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ หลังนักลงทุนกลับมาให้ความสนใจกับประเด็นการเมืองภายในของสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดในช่วงต้นสัปดาห์ ก็ลดทอนโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนมิ.ย. ลง ซึ่งก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินในเอเชีย (โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ไต้หวัน) ในช่วงท้ายสัปดาห์ ก็หนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องด้วยเช่นกัน สำหรับในวันศุกร์ (19 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.35-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดในประเทศ น่าจะรอจับตาผลการประชุมกนง. (24 พ.ค.) ขณะที่ ประเด็นที่น่าสนใจของสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่ประเด็นการเมืองในประเทศ สัญญาณดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. และจีดีพีประจำไตรมาส 1/2560 (รายงานครั้งที่ 2) นอกจากนี้ ตลาดน่าจะติดตามรายงานดัชนี PMI ของญี่ปุ่นและบางประเทศในยูโรโซนด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นตามแรงซื้อหุ้นพลังงานก่อนการประชุมโอเปก โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,549.64 เพิ่มขึ้น 0.37% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 7.07% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,623.42 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 560.23 จุด เพิ่มขึ้น 0.81% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนี SET ปรับลดลงในวันจันทร์ตามแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส1/60 ที่น่าผิดหวัง อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นก่อนการประชุมกลุ่มโอเปกในสัปดาห์หน้า อนึ่ง ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจถูกถอดถอน จำกัดกรอบการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยไว้บางส่วน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,515 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,575 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของรองประธานเฟด การประชุมโอเปก และการประชุมนโยบายการเงินของไทย สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/60 (รายงานครั้งที่ 2) ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ข้อมูล PMI ภาคการผลิตในยูโรโซน และญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน