บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (22-26 พ.ค. 2560) เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 22 เดือนใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะในส่วนของตลาดพันธบัตรที่นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิถึง 1.33 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงบวกจากปัจจัยทางเทคนิค และแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งถูกกระตุ้นจากความไม่แน่นอนของจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ เงินบาทรักษาแรงบวกไว้ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการประชุมกนง. จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้นจาก sentiment ที่แข็งแกร่งของภาพรวมสกุลเงินในภูมิภาค สำหรับในวันศุกร์ (26 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 พ.ค.-2 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.85-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องติดตามสถานการณ์ฟันด์โฟลว์ในตลาดการเงินไทย ขณะที่ประเด็นสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่สัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เครื่องชี้ตลาดแรงงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Price Index) เดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่เฟดติดตาม และดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน และจีน ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันจันทร์เนื่องในวันเมมโมเรียล เดย์

ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นตามแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,569.27 เพิ่มขึ้น 1.27% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 12.03% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,374.32 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 573.03 จุด เพิ่มขึ้น 2.28% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ จากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังเริ่มมีสัญญาณบวกต่อการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ รวมทั้ง แรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนการประชุมโอเปก อย่างไรก็ดี ดัชนีจะลดช่วงบวกลงเล็กน้อยในวันศุกร์ โดยมีแรงขายทำกำไร โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังผลการประชุมโอเปกมีมติขยายระยะเวลามาตรการลดการผลิตออกไปอีก 9 เดือน แม้จะไม่ได้มีการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นก็ตาม

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 พ.ค.-2 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,560 และ 1,545 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้ง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญได้แก่ รายได้ครัวเรือน และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ข้อมูล PMI ของจีน และญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน