นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รักษาการประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย พร้อมด้วย น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทย ร่วมกันเปิดวิสัยทัศน์เป็นครั้งแรกภายหลังรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 หลังนายบัณฑูร ล่ำซำ อดีตประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันเดียวกัน

โดยนางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลกและเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง จากสัญญาณจากหลายอย่าง โดยเฉพาะการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกและยังเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็มีการประกาศเคอร์ฟิวออกมาในบางช่วงเวลาส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนอย่างกว้างขวาง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมิน เศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปี 2563 อยู่ที่ลบ -5% ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ได้ภายในไตรมาสที่ 2 หรือประมาณเดือนมิ.ย.นี้

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง คือการเร่งลงทุนของภาครัฐที่ 3.3% จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของปีนี้ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนเองก็น่าจะติดลบอยู่ที่ -5% และจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยวการ ส่งออก การบริโภคและการลงทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ

“สิ่งที่สำคัญนะวันนี้เราต้องช่วยกันค่ะ ต้องผ่านมันไปให้ได้ สิ่งแรกคือความเชื่อมั่นเราต้องเชื่อมั่นในประเทศไทยเราต้องเชื่อมั่นในรัฐบาลเราต้องเชื่อมั่นในสาธารณสุขไทยพวกเราทุกคนต้องมีความร่วมรับผิดชอบปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและกฎระเบียบกติกาที่ทางรัฐบาลออกมา”นางกอบกาญจน์ กล่าว

ส่วนทิศทางของธนาคารกสิกรไทย ที่จะดำเนินต่อจากนี้ คือ เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในหลายๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า นอกจากการฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทย จะยังคงบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำ ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเสมอที่จะรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ด้านน.ส.ขัตติยา กล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ความท้าทายหลายอย่างนี้ ทั้งภัยแล้ง เศรษฐกิจถดถอย ตลอดจนเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทน (ดีสทรัปชั่น) ทั้งหลาย ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ดี วิกฤตในครั้งนี้เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ต่างกัน คือ อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว อีกทั้งภาระหนี้ต่างประเทศไม่สูงและไม่มีการเก็งกำไรในหุ้นมากเหมือนช่วงต้มยำกุ้ง และครั้งนี้มาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐมาเร็วกว่าคราวที่แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นโจทย์ของทั้งโลกทุกประเภทและก็ทุกบริษัท

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทย และทุกธนาคารเชื่อมั่นว่ามีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยในส่วนของธนาคารกสิกร มีเงินกองทุนเทียร์ 1 มากกว่า 16% และมีการติดตามอย่างใหล้ชิดร่วมกับกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง ขณะที่อัตราหนี้เสีย ซึ่งธนาคารมีการติดตามโดยตลอดและมีการประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ นอกจากนี้ ในส่วนของพนักงานโดยธนาคารไม่มีนโยบายลดพนักงาน อีกทั้งจะมีการยกระดับทักษะความสามารถพนักงาน ให้พร้อมรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ

ขณะเดียวกันสำหรับการนำพาองค์กรฝ่าวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง นับเป็นโจทย์สำคัญอันดับแรกในขณะนี้ ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารกสิกรไทยมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ธนาคารอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่างๆ โดยจะมีการทบทวนแผนธุรกิจและเป้าหมายปี 2563 อย่างชัดเจน หลังจากเห็นผลประกอบการของไตรมาสแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับถัดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน