นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ส่งแบบสอบถามถึงคณะกรรมการบริหารของสถาบันการเงิน ผู้มีอำนาจพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่นำร่องกับ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และ 1 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อสำรวจแนวคิด มุมมอง ความคิดเห็น และประเมินความเสี่ยงวัฒนธรรมองค์กรของตนเอง เพื่อให้รู้ข้อดีข้อเสียและมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/2560 จะสรุปและประมวลผล ก่อนจะนำเสนอรายงานให้สถาบันการเงินรับทราบและนำไปพิจารณาเปรียบเทียบกับองค์กรของตนเพื่อปรับปรุง ภายในต้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม ธปท. จะไม่ได้กำหนดว่าสถาบันการเงินต้องมีวัฒนธรรมองค์กรแบบใด แต่หากมีจุดเสี่ยงในอนาคตสามารถนำมาปรับปรุงเป็นเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินได้

“โดยรวมสถาบันการเงินผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมา 20 ปี มีการบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่ออยู่ในระดับดีพอสมควร แต่อาจจะมีบางมิติที่ไม่ครอบคลุมเพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและบางอย่างเป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งผู้บริหารอาจจะต้องดูแลมากขึ้นและเปลี่ยนแนวทางดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ นอกจากกรอบบริหารความเสี่ยงที่ดีขององค์กร ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสังคมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งมีการถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสมในการพิจาณาสินเชื่อ” นายรณดล กล่าว

นายรณดล กล่าวด้วยว่า ธปท. เร่งรัดให้ทางธนาคารธนชาต ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่ทาง บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ เอิร์ธ (EARTH) ยื่นฟ้องธนาคารธนชาตพร้อมเรียกค่าเสียหาย จากกรณีที่นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินไปเปิดเผยโดยเร็ว คาดว่าทางธนชาตจะจัดส่งข้อมูลมาให้ในเร็วๆ นี้ สำหรับเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 154 และมาตรา 155 อยู่แล้ว ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลใดๆ ของลูกค้าจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อน หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษทั้งจำ ปรับ หรือทั้งจำและปรับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน