นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้า และบริการที่ขยายตัวดีขึ้นในหลายกลุ่มสินค้าและในหลายตลาด และจากการท่องเที่ยวที่ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ผ่านมายังขยายตัวเป็นบวกได้ แต่ไม่เร่งตัวขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างช้าๆ โดยยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่เร่งขึ้น ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐยังขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะในงบกลุ่มจังหวัด และงบกลางปี

นอกจากนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

“ด้านต่างประเทศ อาทิ การส่งออกและการท่องเที่ยว ถือว่ามีแรงส่งชัดเจน แต่ด้านในประเทศ ยังไม่เร่งตัวตาม โดยหลังจากนี้ต้องมาจับตาดูถึงการกระจายตัวของการฟื้นตัวสำหรับปัจจัยในประเทศ ซึ่งปัจจุบันการฟื้นตัวยังไม่กระจายตัวมากนัก ส่วนแรงส่งจากภาครัฐนั้น อาจไม่ใช่แรงขับเคลื่อนเดียว โดยในการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปจะมีการประเมินถึงภาพรวมเศรษฐกิจ และองค์ประกอบของเศรษฐกิจ อาทิ เงินเฟ้อที่แม้จะยังมีทิศทางปรับสูงขึ้น แต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงนั้น อาจเป็นสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่สามารถเข้าใกล้กรอบล่างภายในสิ้นปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยยังต้องขอดูลายละเอียดทั้งหมดก่อน” นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าภาวะการเงินโดยรวมขณะนี้อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน โดยปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น โดย กนง. มองว่าการที่เงินบาทปรับแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคในบางช่วงนั้นอาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จึงเห็นควรให้มีการติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน เพราะอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) รวมทั้งต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอสเอ็มอีด้วย

อย่างไรก็ดี กนง. ได้มีการประเมินภาพรวมความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับจีดีพี โดยการประเมินดังกล่าวไม่ได้มีการประเมินผลกระทบสำหรับภาคเกษตรกรรมโดยตรง แต่เป็นการประเมินในภาพรวมเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน