นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดูแลเศรษฐกิจจะต้องดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินควบคู่ไปด้วยกัน จะใช้แต่นโยบายการคลังฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ โดยที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่องที่ 1.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่ามานานแล้ว ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้ แต่ไปเอาเงินไปฝากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หมดเพราะได้กำไรดีกว่า ดังนั้นในทางทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและหลุดเป้าหมาย ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น

สมชัย สัจจพงษ์

“ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่แล้ว เพราะมีเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะปล่อยให้เข้ามาแบบนี้ได้อย่างไร ให้เข้ามาทำให้เข้ามาสร้างโรงพยาบาลหรือ การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้ลดการเก็งกำไร ขณะที่เงินเฟ้อไม่ได้น่าห่วงเพราะว่าต่ำกว่ากรอบอยู่แล้ว”นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ต้องการให้นโยบายการเงินนโยบายการคลังเดินไปด้วยกัน จะปล่อยให้กระทรวงการคลังฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียวคงไม่ได้ สิ่งที่นโยบายการเงินจะพอช่วยได้ก็มีอยู่ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็สูงกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่เงินเฟ้อต่ำจนหลุดกรอบล่าง เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับดีเยี่ยม แต่จะอยู่ในระดับนี้ต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่ทำอะไรร่วมกัน จึงขอให้นโยบายการเงินเข้ามาช่วย

เมธี สุภาพงษ์

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดูแลนโยบายการเงินนั้น ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ยังคงเป็นระดับที่เหมาะสม และผ่อนคลายเพียงพอ เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้น และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงข้างหน้า ส่วนถ้ากรณีที่มองว่าในช่วงของอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเป็นเวลานานกว่า 2-3 ปี จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยมาเพื่อช่วยให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่อย่างนั้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินด้วย

สำหรับค่าเงินบาทได้แข็งค่าเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค มีสาเหตุมาจากเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องถึง 10.5% ตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากปัญหาภายในของสหรัฐฯ ทั้งความสามารถของรัฐบาลกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เร็วเหมือนที่เคยประกาศไว้ ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่คาดกันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งช่วงปลายปี อาจไม่เกิดขึ้น ส่วนปีหน้าที่มองกันว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกก็อาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ด้วย

“ประเทศไทยตอนนี้ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับปรากฎการณ์เงินเฟ้อต่ำ เพราะมีหลายประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำเช่นกัน โดยประเทศไทยที่มีเงินเฟ้อต่ำมาจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยการตัดสินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ไม่ได้ดูแค่เงินเฟ้ออย่างเดียว แต่จะดูไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินประกอบกันด้วย”นายเมธี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน