บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (10-14 ต.ค. 2559) โดยเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือนที่ 35.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนฟื้นตัวกลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ท่ามกลางปัจจัยหนุนของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (หลังบันทึกการประชุมเฟด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ระบุถึงน้ำหนักของการขึ้นดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา) ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงซื้อคืนเงินบาทเพื่อปรับโพสิชั่น ของหลายกลุ่ม สำหรับในวันศุกร์ (14 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ (7 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.95-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดจะยังคงเป็นเรื่องสัญญาณที่อาจสะท้อนโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งจากเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายบ้านมือสอง ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้างเดือนก.ย. และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามประเด็นดีเบตของคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การประชุมธนาคารกลางยุโรป และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/2559 ของจีน

ส่วนดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงซื้อของสถาบันในประเทศ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,477.61 จุด ลดลง 1.78% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 107.16% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 95,873.98 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 534.41 จุด ลดลง 4.63% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายอย่างหนักในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ ข้อมูลการส่งออกของจีนที่ออกมาแย่ ได้สร้างความกังวลต่อสถานะของเศรษฐกิจจีน และกดดันนักลงทุนให้หนีออกจากสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยปรับฟื้นตัวในช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ Thailand’s SET index

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,450 และ 1,430 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,490 และ 1,515 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานจีดีพี ไตรมาส 3/2559 ของจีน รวมทั้ง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้บริโภค และเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับข้อมูลต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน