บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ โดยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 33.00 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 30 เดือนที่ 32.83 บาทต่อดอลลาร์ โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ ยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปในสภาคองเกรส

นอกจากนี้ เงินบาทก็มีปัจจัยบวกจากแรงขายเงินดอลลาร์ ของผู้ส่งออก รวมถึงสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สำหรับในวันศุกร์ (17 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 32.83 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.11 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยคงต้องติดตามตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 3/2560 ของไทย รวมถึงบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการเดือนพ.ย.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,709.38 เพิ่มขึ้น 1.19% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 2.04% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 57,514.20 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 562.34 จุด เพิ่มขึ้น 0.82% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการประกาศปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยสำหรับการคำนวนดัชนี MSCI ในวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้รับแรงกดดัน หลังราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงช่วงกลางสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายสัปดาห์ SET Index กลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ด้วยอานิสงส์จากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน ประกอบกับการคาดการณ์จีดีพีงวดไตรมาส 3/2560 ของไทยจะออกมาดี ทำให้มีแรงหนุนเข้าในหุ้นกลุ่มธนาคาร ค้าปลีก และโรงแรม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,690 และ 1,680 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,720 และ 1,730 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐ และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2560 ของไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค. และดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2560 ของอังกฤษ และดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของประเทศแถบยุโรป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน