บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (27 พ.ย.-1 ธ.ค.) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนใกล้ๆ ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนอ่อนค่าลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันเงินดอลลาร์ จากความไม่แน่นอนของแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ ที่กลับมาได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีเกินคาด เช่น จีดีพีไตรมาส 3 ที่มีการปรับทบทวนเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ ก่อนผลการพิจารณาแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ของวุฒิสภา สำหรับในวันศุกร์ (1 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยคงต้องติดตามสัญญาณเกี่ยวกับการผลักดันแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคบริการ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนธ.ค. และยอดสั่งซื้อของโรงงาน สต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามรายงานดัชนี PMI ของประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีแรงหนุนจาก LTF/RMF เข้ามาช่วยประคองตลาดโดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,699.65 เพิ่มขึ้น 0.22% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 0.07% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 53,348.95 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 544.70 จุด ลดลง 1.66% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนเกือบตลอดสัปดาห์จากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลซื้อกองทุน LTF และ RMF ช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน ดัชนี SET ยังคงเผชิญกับแรงขายทำกำไรของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมเข้ามาหนุนตลาดในช่วงปลายสัปดาห์ จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะออกมาดี ประกอบกับการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปก

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,690 และ 1,680 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,715 และ 1,730 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ความคืบหน้าแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของจีน และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/2560 ของญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน