ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ภาวะการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,788.43 จุด ลดลง 21.89 จุด หรือลบ 1.21% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นที่ 124,498.18 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน (จากเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2559 ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดนับตั้งแต่เปิดตลาดอยู่ที่ 130,152.19 ล้านบาท)

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยระหว่างเปิดการขายซื้อช่วงเช้าปรับตัวลงแรงเป็นผลของแรงขายจากความกังวลตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ก่อนที่ตลาดหุ้นฟื้นกลับขึ้นมา (รีบาวด์) ในช่วงเปิดการซื้อขายภาคบ่าย หลังดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ หรือหุ้นสหรัฐซื้อขายล่วงหน้า ฟื้นกลับมายืนในแดนบวกได้กว่า 100 จุด หลังเปิดตลาดช่วงแรกร่วงแรงถึง 1,000 จุด

โดยนักลงทุนตอบรับต่อประเด็นแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ และมองว่าการปรับฐานครั้งนี้ใกล้จะจบแล้ว หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี เริ่มปรับตัวลง จากจุดสูงสุด 2.86% ลงมาเหลือราว 2.7% ฉะนั้น กระบวนการโยกย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นไปยังตลาดพันธบัตรจึงใกล้จบแล้ว

อย่างไรก็ดี สำหรับคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยในวันที่ 7 ก.พ. มีโอกาสผันผวนสูง โดยขึ้นอยู่กับดัชนีดาวโจนส์ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร และยังคงต้องติดตามทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ส่งผลต่อหลายภาคส่วน หลังเริ่มอ่อนค่าบ้างแล้ว

ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ซื้อในจังหวะที่ดัชนี ปรับตัวลงไปทดสอบแนวรับที่ 1,760 จุด และสามารถือหุ้นได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ซื้อ ต้องลงทุนแบบเลือกหุ้นรายตัวมากขึ้น เน้นหุ้นปันผลสูงในกลุ่มที่อยู่อาศัย โรงกลั่น และธนาคารพาณิชย์ที่เน้นธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ พร้อมกับประเมินแนวรับ 1,760 จุด แนวต้าน 1,800-1,810 จุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน