“ถั่วแระญี่ปุ่น” คือถั่วเหลืองฝักสด เป็นพืชล้มลุก มีทรงพุ่ม ผลเป็นฝัก มีลักษณะทรงแบน ยาวรี โค้งงอเล็กน้อย มีขนอ่อนๆ ฝักมีสีเขียว ฝักจะนูนขึ้น มีเมล็ดโตเรียงกันอยู่ข้างใน เมล็ดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป เมล็ดสีเขียว มีรสชาติหวานมันกว่าเมล็ดใหญ่กว่า นุ่มกว่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้มีปลูกกันมากในหลายประเทศทั่วโลก
ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี มีประวัติการบริโภคถั่วเหลืองในระยะฝักไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานถั่วแระเป็นกับแกล้มเบียร์ หรืออาหารว่างเกือบทุกครัวเรือน จึงมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองให้มีฝักและเมล็ดใหญ่กว่าถั่วเหลืองธรรมดา 2 เท่า เมล็ดนุ่ม รสชาติหวานมัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สำหรับบริโภคฝักสดเพียงอย่างเดียว และมีความพยายามปลูกถั่วแระส่งตลาดตลอดทั้งปี ซึ่งความต้องการบริโภคถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วเหลืองฝักสด (Vegetable Soybean) ของชาวญี่ปุ่น ประมาณปีละ 150,000 ตัน แต่สามารถผลิตภายในประเทศได้เพียง 100,000-110,000 ตัน จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ถั่วแระญี่ปุ่นเป็นพืชโปรตีนสูง (ถั่วแระญี่ปุ่น มีโปรตีน 12.7% ถั่วฝักยาว มีโปรตีน 2.4%) รสชาติอร่อย สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เหมาะแก่คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้นิยมบริโภคอาหารมังสวิรัติ ทุกวันนี้ ถั่วแระญี่ปุ่น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่มีศักยภาพในตลาดส่งออก โดยจำหน่ายในรูปฝักสดแช่แข็ง จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกและบริโภคในประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ถั่วแระแบบไทยๆ ที่ขายในสมัยก่อนนั้น คือการนำเอาถั่วเหลืองที่มีอายุกลางอ่อนกลางแก่ เมล็ดยังเป็นสีเขียวอมเหลืองมาต้ม และใส่เกลือเล็กน้อยเพื่อบริโภค แต่เนื่องจากมันเป็นถั่วเหลืองพันธุ์ที่นำไปสกัดเป็นน้ำมันมันจึงมีรสชาติจืดๆ และเมล็ดไม่ใหญ่มาก ดังนั้น จึงมีการนำเอาพันธุ์ถั่วแระญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ทั้งในญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน เข้ามาปลูก เพราะมีเมล็ดใหญ่กว่า อีกทั้งยังมีรสชาติหวาน มัน และมีเมล็ดที่นุ่มกว่าถั่วแระแบบเดิมๆ เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ว่าทำไมเดี๋ยวนี้จึงมีแต่ถั่วแระญี่ปุ่นออกวางขายตามท้องตลาดนั่นเอง ถั่วแระก็คือถั่วเหลืองที่เก็บเกี่ยวในช่วงกลางอ่อนกลางแก่นั่นเอง

มืออาชีพปลูกถั่วแระกว่า 20 ปี
คุณวิชวน บุตรเกตุ เกษตรกรชาวตำบลวังโป่ง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ( โทร. 085 736-7950 ) มีประสบการณ์ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี เล่าว่า หลังหมดฤดูทำนา เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกถั่วแขกและข้าวโพดในช่วงหน้าแล้ง แต่ตนเลือกปลูกถั่วแระญี่ปุ่นเพื่อส่งออกประเทศญี่ปุ่น โดยมีบริษัทที่เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกและประกันราคารับซื้อ ซึ่งถั่วแระญี่ปุ่นถือเป็นพืชทางเลือกอายุสั้น ใช้น้ำน้อยกว่าการทำนามาก และที่สำคัญได้ราคาดี มีราคาที่แน่นอน เพราะราคารับซื้อจะมีการตกลงกันไว้ก่อนการปลูกทุกครั้ง ซึ่งเกษตรกรก็พอมีผลกำไร มีบริษัทผู้ส่งออกเข้ามาส่งเสริมแล้วรับซื้อในราคาประกัน
การปลูกถั่วเหลืองฝักสดหรือถั่วแระญี่ปุ่น มีความแตกต่างจากการปลูกถั่วเหลืองไร่อย่างมาก การปฏิบัติดูแลรักษาควรได้รับการเอาใจใส่อย่างประณีตเช่นเดียวกับการปลูกพืชผัก ซึ่งต้องการน้ำและดินอุดมสมบูรณ์ การลงทุนด้านปุ๋ย สารเคมี และแรงงานในการเก็บเกี่ยวเด็ดฝักค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูงการเก็บเกี่ยวเด็ดฝักค่อนข้างมาก ตลอดจนต้องเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม การคัดเลือกฝักตามมาตรฐาน การบรรจุหีบห่อ การขนส่งอย่างรวดเร็วสู่ตลาด หรือโรงงาน ซึ่งต้องการประสานกันระหว่างผู้ปลูก พ่อค้า โรงงานแช่แข็ง และผู้ส่งออกอย่างดี จึงจะทำให้ธุรกิจเกษตรของพืชชนิดนี้ประสบผลสำเร็จได้


วิธีการปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น
สำหรับการปลูกถั่วแระ ต้องนำเมล็ดพันธุ์ลงแช่ในน้ำเกลือเจือจาง แล้วเลือกเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำนำมาผึ่งลมให้แห้ง หลังจากนั้นก็สามารถนำไปเพาะได้ ส่วนการเตรียมแปลง ให้ไถดินแล้วตากไว้ 15-20 วัน เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชและฆ่าเชื้อโรค หลังจากนั้นให้ใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก กระดูกป่น เศษพืชป่น หว่านให้ทั่วแปลงแล้วไถพรวน และไถยกร่องโดยให้สันร่อง กว้าง 50-60 เซนติเมตร สูงจากพื้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ร่องทางเดินให้กว้าง 1 เมตร ลึก 20-30 เซนติเมตร แล้วให้คลุมหน้าแปลงหนาๆ ด้วยฟางแห้ง
ส่วนระยะปลูกให้อยู่ที่ 15-20 เซนติเมตร โดยให้ปลูกที่ริมสันแปลงแบบแถวคู่สลับฟันปลา ถั่วแระไทย คือ ถั่วเหลืองพันธุ์เดียวกับที่จะนำไปสกัดน้ำมัน ดังนั้น มันจึงมีรสชาติจืดและมีเมล็ดเล็กกว่าถั่วแระญี่ปุ่น การให้น้ำสำหรับถั่วแระนั้น หลังจากหยอดเมล็ดลงแปลงปลูก เมล็ดจะต้องการความชื้นพอสมควรแต่อย่าให้แฉะ และในช่วงอายุ 25-65 วัน ต้นถั่วแระจะต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอเพราะจะทำให้สีฝักแก่เป็นสีเหลืองช้าลง จึงเป็นการช่วยยืดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวให้ได้นานมากยิ่งขึ้น และสำหรับการใส่ปุ๋ยควรปรับให้เหมาะกับสภาพดินที่ใช้ปลูกในแหล่งนั้นๆ

ถั่วแระญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นพืชทางเลือกอายุสั้น ใช้น้ำน้อย และที่สำคัญได้ราคาดี มีบริษัทมาติดต่อขอรับซื้อในราคา กิโลกรัมละ 17 บาท หรือขายได้ในราคาตันละ 17,000 บาท โดยตนได้ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นในพื้นที่ราว 10 ไร่ หมั่นให้น้ำ ให้ปุ๋ย และดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 60 วัน ซึ่งต่างจากปลูกข้าวโพดต้องใช้เวลาถึงกว่า 120 วัน
การกำจัดวัชพืช ส่วนใหญ่ทำโดยใช้แรงงานคนอย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อตอนถั่วอายุ 15-20 วัน และ 30-40 วัน หลังจากหยอดเมล็ด การใช้จอบถากหญ้ามักจะทำควบคู่ไปกับการพรวนดินกลบปุ๋ยและพูนโคน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันรากลอยและต้นถั่วเอนล้มเมื่อลมพัดแรง นอกจากการกำจัดวัชพืชด้วยแรงคน และยังสามารถใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชได้ด้วย แต่ผู้ใช้ต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายกับต้นถั่ว ปัจจุบัน สารเคมีกำจัดวัชพืชมีหลายชนิดหลายประเภท ทั้งชนิดที่เลือกควบคุมหรือทําลายพืชเฉพาะอย่าง และทั้งประเภทฉีดพ่นก่อนงอก (Pre-emergence) และพ่นหลังงอก (Post-emergence) สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นก่อนงอก เช่น อาลาคลอร์, เมโตลาคลอร์, เมตริบูซิน ซึ่งสารเคมีพวกนี้จำเป็นต้องฉีดพ่นขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ และเมล็ดถั่วยังไม่งอก สำหรับสารเคมีที่ฉีดพ่นหลังงอก เช่น ฮาโลซีฟอพเมธิล, ฟลูอซิฟอพบูทิล ใช้ควบคุมวัชพืชใบแคบได้ดี แต่ไม่ควบคุมวัชพืชใบกว้าง และไม่มีอันตรายต่อต้นถั่ว

ส่วน โฟมีซาเฟน ควบคุมวัชพืชใบกว้าง และมีผลทำให้ใบถั่วมีรอยไหม้ตามขอบและชะงักการเจริญเติบโตเล็กน้อย แต่ระยะต่อมาต้นถั่วสามารถเจริญเติบโตไปได้ โดยที่ใบใหม่ไม่แสดงอาการผิดปกติ การใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชอาจมีความจำเป็นในบางพื้นที่ที่หาแรงงานยาก และจะให้ผลดี ควรใช้สารเคมีควบคู่กับการกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องจักรกลหรือแรงงานคน
การให้น้ำ ถั่วเหลืองฝักสดต้องการน้ำมากน้อยตามระยะการเจริญเติบโต ดังนี้ ระยะก่อนเมล็ดงอก หลังจากหยอดลงแปลงปลูกเมล็ดต้องการความชื้นพอสมควร แต่ไม่มากจนแฉะ เพราะขณะที่เมล็ดงอก เมล็ดต้องการออกซิเจนในหายใจ ดังนั้น ถ้าสภาพแปลงปลูกแฉะเกินไปจะเกิดการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นผลให้ขบวนการงอกไม่สมบูรณ์ เมล็ดมักจะเน่าเสียหาย หรือถ้างอกได้จะเจริญเติบโตช้า ต้นแคระแกร็น ระยะก่อนเมล็ดงอก อายุประมาณ 25-65 วัน เป็นระยะที่ต้นถั่วแระญี่ปุ่นต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอนี้ ช่วยให้สีฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองช้าลง เป็นการยืดอายุเก็บเกี่ยวออกไปได้อีก 2-3 วัน ผลผลิตจะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย
แมลงและการป้องกันกำจัด แมลงศัตรูถั่วแระญี่ปุ่น มักจะเป็นแมลงประเภทเดียวกันกับที่เข้าทำลายถั่วเหลืองไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ทำความเสียหายในช่วงหลังจากเมล็ดงอกจนถึงระยะออกดอกติดฝักอ่อน เมื่อฝักแก่มีขนปกคลุมทั่วทั้งฝัก การเข้าทำลายของแมลงลดน้อยลง การเข้าทำลายของแมลงศัตรูถั่วแระญี่ปุ่นในแต่ละระยะการเจริญเติบโต แมลงศัตรูก็จะมีพวกหนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนเจาะฝัก มวนเขียวถั่ว มวนเขียวข้าว และมวนขาโต โรคที่สำคัญของถั่วแระญี่ปุ่น คือ เมล็ดและลำต้นเน่า โรคราสนิม ถ้าเกษตรกรฉีดสารป้องกันกำจัดอย่างสม่ำเสมอตามโปรแกรมที่บริษัทกำหนดมา ส่วนมากก็จะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก

เมื่อต้นถั่วแระญี่ปุ่นครบอายุการเก็บเกี่ยว โดยเบื้องต้นจะเป็นการนับอายุวันเก็บเกี่ยวและการสังเกตเมล็ดในฝักถั่วที่จะต้องเดินสุ่มตรวจ เนื่องจากอาจจะมีปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง เช่น อากาศร้อนจัด การเก็บเกี่ยวก็จะเร็วขึ้น จากนั้นเจ้าของไร่ก็ต้องเตรียมการว่าจ้างคนงานในพื้นที่หรือแรงงานใกล้เคียงเพื่อเข้ามาเก็บเกี่ยว ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานคราวละมากๆ 100-300 คน เลยทีเดียว เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวถั่วแระญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นภายในคืนนั้น หรือช่วงเช้ามืดของอีกวัน เนื่องจากถั่วแระญี่ปุ่นต้องเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาเย็น ตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไปจนถึงช่วงกลางดึกอากาศเย็น หรือถ้าเก็บเกี่ยวพื้นที่ใหญ่ หรือแรงงานไม่เพียงพอ อาจจะต้องเก็บเกี่ยวข้ามคืนไปถึงเช้ามืดของอีกวันเลยทีเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตเหี่ยวเฉา ซึ่งแรงงานก็ต้องจะเตรียมไฟฉายติดหัวมาทุกคน เพื่อจะให้แสงสว่างเวลาทำงานช่วงกลางคืน โดยถั่วแระญี่ปุ่นที่ปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ จะสามารถเก็บผลผลิตได้ราว 15-20 ตัน ซึ่งจำนวนผลผลิตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ในเรื่องของการดูแลรักษาและสภาพอากาศ
สำหรับเรื่องโรคและแมลง อีกอย่างทางบริษัทผู้ส่งออกก็จะมีนักวิชาการเข้ามาตรวจแปลงถั่วแระญี่ปุ่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูปัญหาเรื่องโรคและแมลง รวมถึงการดูแลรักษา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือการแพร่ระบาด ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันที
