บริหารจัดการ 8 ผลไม้ทำเงิน
ข้อมูลคาดการณ์ผลไม้ไทย ปี 2566 ระบุว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวม 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน โดยช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมากถึง 71% ช่วงตั้งแต่เมษายน เรื่อยไปถึงสิงหาคม เริ่มที่ มะม่วง ปลูกในภาคกลางและอีสาน ผลผลิตกว่า 33% ออกสู่ตลาดในเมษายน ตามด้วยผลผลิตในภาคเหนือ ผลผลิต 29% ออกมากช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ขณะที่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ภาคตะวันออก 44% ของผลผลิตเก็บเกี่ยวตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน ต่อด้วยภาคใต้ 45% ของผลผลิตเก็บเกี่ยวมิถุนายน-สิงหาคม ช่วงเดียวกันนี้ ลิ้นจี่ ภาคเหนือประมาณ 89% จะเก็บเกี่ยวพฤษภาคม-มิถุนายน พร้อมกับสับปะรด ภาคตะวันออกและภาคกลาง 29% ของผลผลิตเก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ตามด้วย ลองกอง ภาคตะวันออก 1 ใน 4 ของผลผลิตเก็บช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ก่อนที่ภาคเหนือและภาคใต้จะเก็บเกี่ยวตั้งแต่กันยายนเป็นต้นไป สำหรับ ลำไย เริ่มตลาดที่ภาคเหนือ เก็บเกี่ยวมากสุดช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ตบท้ายภาคตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งทั้ง 8 ชนิดเป็นผลไม้หลักขึ้นชื่อของเมืองไทย นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า ผลไม้หน้าร้อนของไทยส่วนใหญ่เกิน 70% จะออกในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3