ปลูกข้าวสังข์หยด
“ข้าวสังข์หยด” เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุงที่ปลูกกันมาไม่น้อยกว่า 100 ปี ข้าวพันธุ์นี้ได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้บริสุทธิ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวแห่งศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ข้าวเจ้าเมื่อหุงสุกในรูปแบบข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติอร่อย ข้าวสังข์หยดนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวนาเมืองพัทลุง เพราะเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยและของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา วันที่ 23 มิถุนายน 2549 การปลูกข้าวสังข์หยด ข้าวสังข์หยดพัทลุงผลิตจากแหล่งปลูกธรรมชาติ ที่ได้ชื่อว่า “อู่ข้าว” ของภาคใต้ เป็นแผ่นดินที่ราบระหว่างทิวเขาบรรทัดกับทะเลสาบสงขลา-พัทลุง ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด ชาวนาพัทลุงปลูกข้าวสังข์หยดในฤดูนาปี เดือนสิงหาคม-กันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป การปลูกข้าวสังข์หยด ครอบคลุม 11 อำเภอ เนื้อที่เพาะปลูกรวม 19,655 ไร่ ผลผลิตรวม 7,976 ตันต่อปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 402 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญ ได้แก่ อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน
จากข้อมูลเชิงสถิติของสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ระบุว่า ข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมือง และได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เป็นรายแรกของประเทศนั้น ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกลดลง ซึ่งก่อนหน้านั้น พื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดของจังหวัดพัทลุง มีมากถึง 30,000 ไร่ และพบว่าปลูกมากในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอควนขนุน และอำเภอปากพะยูน จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ทำให้ทราบว่า การลดพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยด ซึ่งถือเป็นปัญหาในเชิงการอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ดี มีผลสืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ปัญหาหนึ่งคือผลผลิตต่อไร่ของข้าวสังข์หยดน้อย เมื่อเทียบกับข้าวสายพันธุ์ทั่วไป ยิ่งเมื่อรัฐบาลออกมาตรการประกันราคาข้าว และโครงการจำนำข้าว ยิ่งทำให้เกษตกรส่วนใหญ่บ่ายหน้าไปปลูกข้าวสายพันธุ์อื่นแทน อย่างไรก็ตาม การลดพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดลงนั้น ยังพบด้วยว่า การส่งเสริมให้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งอัตราการต่อรองราคาในทางการตลาดมีสูงกว่า ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเห็นพ้อง ตัดสินใจปรับพื้นที่นาเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแทน แต่ยังคงมีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มที่พยายามคงเอกลักษณ์ของข้าวสังข์หยดในพื้นท