ผลตรวจผัก
เมื่อพูดกันถึงเรื่องผักปลอดสารพิษ ผมก็นึกถึงเรื่องเมื่อเกือบสิบปีก่อน ที่ผมเคยไปนอนค้างบ้านอา น้องชายของพ่อ ที่จังหวัดภูเก็ต มาหนึ่งคืน บ้านอาผู้ชายอยู่บนเนินเขานอกเมือง อากาศดีมากครับ มีเนื้อที่หลายไร่ อาผู้หญิงปลูกต้นไม้ไว้เต็มพื้นที่ไปหมด พอรุ่งเช้า ผมเห็นอาผู้หญิงไปเก็บยอดผักสารพัดชนิดจากในไร่มาคัดแยก เตรียมส่งฝากแม่ค้าขายในตลาดสด มีทั้งใบเหมียง ยอดหมุยอวบๆ งามๆ ชนิดที่ถ้าผมไปเห็นโดยบังเอิญที่ตลาด ผมต้องคิดว่าเป็น “ผักฉีดยา” แน่ๆ แต่ในความเป็นจริงก็คือไร่เนินเขาแห่งนั้นไม่เคยใช้ยาฉีดพ่นใดๆ เลย มันทำให้ผมนึกถึงความสำคัญของการพูดคุยถามไถ่แม่ค้า พ่อค้า ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่เห็นอยู่ต่อหน้า เพราะหากว่าความไว้วางใจ ความเชื่อถือ และความจริงใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อสถาปนาขึ้นได้ที่ไหน เมื่อใด โอกาสที่จะได้สานต่อเครือข่ายผักปลอดภัยก็นับว่าเริ่มต้นนับหนึ่งขึ้นแล้ว ณ ที่นั้น ผมคิดว่าเรายิ่งต้องคิดถึงเรื่องประเด็นนี้ ในฐานะทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้นอีก หลังจากมีรายงานการตรวจพบสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ ปี 2560 โดยเครือข่าย Thai – PAN ที่ได้สรุปรายงานมาให้เห็นคร่าวๆ ในคราวก่อนนะครับ
ผลการตรวจวัดสารพิษกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ประจำปี พ.ศ. 2560 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai – PAN) ซึ่งได้แถลงข่าวที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพฯ ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยืนยันตัวเลขน่ากลัวกว่าที่เคยคิดกันไว้มาก ปลายเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ Thai – PAN เก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ทั้งจากซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 3 แห่ง รวมทั้งตลาดสดค้าปลีก – ค้าส่งในเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี สงขลา และราชบุรี แหล่งละ 15 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้นถึง 150 ตัวอย่าง แบ่งเป็นผักตลาดยอดนิยม คือ กะเพรา พริกแดง คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักพื้นบ้านยอดนิยม คือใบบัวบก ชะอม ตำลึง สายบัว และผลไม้ คือองุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด การ “เก็บตัวอย่าง” นี้ หมายถึงบันทึกรายละเอียดบนฉลาก สอบถามที่มาของสินค้า เพื่อสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับที่อ้างอิงได้ จากนั้นส่งวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษ และปีนี้ Thai – PAN ยังได้ส่งตัวอย่างเหล่านี้เพิ่มไปยังห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อตรวจหาสารกำจัดวัชพืชอีกทางหนึ่งด้วย ผลตรวจซึ่งมีรายละเอี