สารประกอบแคโรทีนอยด์
“อุตสาหกรรมชีวเคมีภัณฑ์” (Biorefinery) ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศในการก้าวขึ้นสู่การเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของอาเซียน” (Bio Hub of Asian) ตามมาตรฐานพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพไทยภายในปี พ.ศ. 2570 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุนวัตถุดิบในการผลิตชีวเคมีภัณฑ์อย่างเช่น “แคโรทีนอยด์” (Carotenoids) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มคุณค่า และมูลค่าในอาหารเสริม และเครื่องสำอาง ซึ่งคาดว่าจะทำมูลค่าได้สูงถึงเกือบ 6 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2568 อาจารย์ ดร.อัครพล วัชราวิภาส อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ร่วมกับทีมวิจัยจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) พัฒนาเซลล์ยีสต์ลูกผสมสำหรับการสร้างสารประกอบแคโรทีนอยด์ โดยใช้ชุดยีนใหม่ (novel crt gene combination) จาก “ยีสต์สีแดง” ที่แยกได้จาก “ใบข้าวไทย” ทำให้สามารถผลิตสารเบต้าแคโรทีน (BetaCarotene) ที่เป็น Pro-vitamin A ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจก อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ