อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว
ปัจจุบัน มักพูดกันในวงการศึกษาเรื่องอาหารว่า ความรู้เกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรค ตลอดจนการรู้จักเก็บหาผักล้มลุก ผักยืนต้นมากิน ดูจะลดน้อยลงเรื่อยๆ คือเราไม่ค่อยรู้จักชนิดของพืชผักกันแล้วนั่นเอง ส่งผลให้การสืบทอดตำรับอาหารที่ปรุงจากพืชท้องถิ่นหรือพืชป่าสูญหายไปมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ ฟังเผินๆ ก็ดูเหมือนจะจริงนะครับ แต่ครั้นเราลองไปเดินจับจ่ายซื้อของตามตลาดนัดหมู่บ้านย่านชุมชนชานเมืองใหญ่ๆ ก็กลับพบว่า มีการเพิ่มขึ้นของแผงผักพื้นบ้านอย่างชัดเจนในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมา ผักหน้าตาแปลกๆ เดี๋ยวนี้มีให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะตามหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ เผลอๆ จะมีมากกว่าตลาดต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป การเพิ่มขึ้นของสินค้าใดๆ ย่อมสัมพันธ์โดยตรงกับผู้บริโภค กรณีของผักพื้นบ้าน คำอธิบาย ณ เวลานี้ที่เห็นชัดก็คือ มันตอบสนองรสนิยมการกินของแรงงานวัยหนุ่มสาวจากชนบทที่อพยพโยกย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ดังนั้น คงไม่เกินเลยความจริงไปนัก หากจะบอกว่า “ความรู้” ที่ชาวเมืองวิตกกันว่าจะสูญหายนั้น ได้ถูกชาวชนบทพลัดถิ่นนำเสนอด้วยการยืนยันวิถีการบริโภคซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยบุรพกาลของพวกเขา ให้เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาทุกเม