เกษตรเขาเขียว
ร้านค้าของชาวบ้านใกล้โรงเรียนมีไม่กี่ร้าน บ้างร้านเป็นเพิงไม้สร้างอย่างง่ายๆ บางร้านใหญ่หน่อยเป็นบ้านชั้นเดียว ส่วนมากเป็นบ้านไม้ ของที่ขายเป็นของใช้ของกินในครัวเรือนคุณภาพต่ำ ร้านขายก๋วยเตี๋ยวมีอยู่ 2 หรือ 3 ร้านที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน แต่พวกเราไม่ค่อยไปกินกันเพราะส่วนใหญ่กินข้าวที่โรงอาหาร จะมีบ้างในวันเสาร์อาทิตย์ที่เบื่ออาหารจากโรงอาหารหนีไปกินร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ติดถนนลูกรัง เวลากินต้องคอยระวังเสียงรถยนต์ที่ผ่านว่าจะเป็นรถของอาจารย์หรือเปล่า เนื่องจากเราไม่ได้ขออนุญาตออกมา เรื่องรสชาติคงไม่ต้องบรรยายว่าเป็นเช่นไร เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูที่ต้มหมูชิ้นใหญ่แล้วหั่นใส่ ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นถ้าวันไหนโชคดีเจ้าของร้านออกไปซื้อที่เขาขวางกลับมาก่อนเที่ยงก็จะได้กินเส้นที่นุ่ม แต่ส่วนใหญ่เจอเส้นค้างคืนก็จะได้กินเส้นแข็ง ใส่พริกปรุงให้เผ็ดก็กินได้ ร้านค้ามีให้เลือกหลายร้าน ถ้าเดินไปยังหมู่บ้านเขาส้ม ห่างไปถึง 2 กิโลเมตร ขนมที่ขาดไม่ได้ก็คือข้าวเกรียบกุ้งถุงใหญ่สีแดงแป๊ดด้วยสีผสมอาหารมากกว่าสีแดงจากตัวกุ้ง ข้าวเกรียบที่มีความเหนียวมากกว่าความกรอบ เนื่องจากมันมีปริมาณมากและราคาถูก เราจึงปฏิเสธไม่ได้
ชื่อเกษตรเขาเขียวคงไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก รู้จักกันก็แต่คนในวงการอาชีวศึกษาสายเกษตร หรือรู้จักเขาเขียวกันว่า เขาเขียวเป็นสวนสัตว์เปิดอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี “เกษตรเขาเขียว” เป็นชื่อเรียกของโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี ก่อตั้งมานานเกือบ 5 ทศวรรษ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2507 จังหวัดราชบุรีมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมและได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้ทราบว่าจังหวัดราชบุรีมีพื้นดินของจังหวัดเป็นป่าสงวนฯ อยู่บริเวณเขาเขียว ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม ประมาณ 8,000 ไร่ ต่อมากรมอาชีวศึกษาจึงได้มีการประชุมคณะกรรมการและมีมติอนุมัติให้ตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรีขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2512 โดยมีคณะกรรมการจากจังหวัดราชบุรีเข้าร่วมและฝ่ายของกรมอาชีวศึกษา ซึ่งมี นายระบิล สิตสุวรรณ รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา นายเชิญ มณีรัตน์ หัวหน้ากองโรงเรียนเกษตรกรรม ดร.บัญญัติ วิโมกขสันต์ และ นายสัณหจิตต์ ฐาปนะดิลก เป็นผู้ประสานงานเพื่อจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี ในที่ประชุมได้ตกลงให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างจากการสำรวจพื้นที่ไว้ก่อนแล้วประมาณ 608 ไร่ เป็นพื้นที่ที