เห็ดขี้ควาย
เห็ดขี้ควาย เป็นเห็ดพิษซึ่งขึ้นอยู่ตามกองมูลควายแห้ง สีของเห็ดจะมีสีเหลืองซีดคล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่มจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ บริเวณก้านที่ใกล้จะถึงตัวร่มจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ สีขาวแผ่ขยายออกรอบก้าน แผ่นนี้มีลักษณะคล้ายวงแหวน ซึ่งเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศ ลักษณะของเห็ดตัวสมบูรณ์และโตเต็มที่ตรงบริเวณหมวกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-9 เซนติเมตร ความสูงของลำต้นประมาณ 5-8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.0 เซนติเมตร ความอันตรายที่แท้จริงของเห็ดขี้ควายนั้นคือสารที่อยู่ภายในเห็ดขี้ควาย มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ psilocybine หรือ psilocine ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา บางรายยังแน่นหน้าอกด้วย ทั้งนี้ ในภาคอีสานมีการใช้เห็ดขี้ควายในตำรับยาต่างๆ มากกว่า 20 ตำรับ ที่มีการปรุงยากันมาก ได้แก่ ตำรับยาแก้ไข้หมากไม้ (ไข้ที่เป็นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มักเป็นในช่วงที่มีผลไม้ออกมากๆ ไข้ชนิดนี้เมื่อเป็นแล้วห้ามทานผลไม้) ยกตัวอย่างยาแก้ไข้หมากไม้ ให้เอาเห็ดขี้ควายปิ้งให้แห้ง (เกรียม) ฮากข้าว ฮากแตงกัว (แตงกวา) ฝนกินดีแล