เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

กศน.ตำบลปลายโพงพาง อัมพวา ต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยมระดับภาคกลาง

ในปี 2564 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ดำเนินโครงการ กศน. ตำบลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม พลัส เพื่อขับเคลื่อน กศน. สู่ “กศน.WOW” ตามนโยบายของ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งยกระดับ กศน. ตำบลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม ให้มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน ตลอดจนพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สำนักงาน กศน. จัดการประกวดแข่งขัน “กศน. ตำบลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม” ใน 5 ประเด็นหลัก คือ ครูดี (Good Teacher) สถานที่ สภาพแวดล้อมดี (Good Place Best-Check in) กระบวนการเรียนรู้ดี (Good Activities) ภาคีเครือข่ายดี (Good Partnership) และนวัตกรรมดี (Good Innovation) โดยพิจารณาคัดเลือกในระดับจังหวัด ระดับกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัด และระดับภาคตามลำดับ ปรากฏว่า ระดับภาคกลาง ผู้ชนะเลิศคือ กศน.ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ผู้บริหาร กศน.อำเภออัมพวา เยี่ยมชมผลงาน

ครูดี มีความคิดสร้างสรรค์

ทุกวันนี้ นางสาววรรณา เดชฉกรรจ์ ทำหน้าที่เป็นครู กศน.ตำบลปลายโพงพาง นางสาวอุไรวรรณ วิบูลย์นัติพงษ์ ตำแหน่งครูอาสาสมัคร มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน และนิเทศ นางสาวฉลวย โตแดง ครูชำนาญการพิเศษ มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน และนิเทศ ภายใต้การกำกับดูแล ของ กศน.อำเภออัมพวา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา

ครู กศน.ตำบลปลายโพงพาง เป็นครูดีที่มีความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ ความสามารถ มีทักษะเทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุม ทั้งในส่วนของการเรียนการสอนแบบปกติและการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และเข้าถึงความต้องการของผู้เรียนอย่างเป็นระบบและชัดเจน มีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ทุกภาคเรียน มีการออกแบบการจัดการเรียนรู้ หรือสื่อการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และน่าสนใจ เช่น การใช้สื่อ Youtube / PowerPoint / QR-code และสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา

ครูวรรณา เดชฉกรรจ์ พาเยี่ยมชมแปลงปลูกผักสวนครัว

การเรียนออนไลน์ผ่านระบบ Google Classroom เป็นอีกช่องทางที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง และไม่มีการกำหนดเวลาการเรียน รวมทั้งมีทักษะในการกระตุ้นการเรียนรู้ การบริหารจัดการชั้นเรียน มีการทำข้อตกลงร่วมกันของผู้เรียน การจัดสภาพห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จัดมุมให้บริการคอมพิวเตอร์ มุมอาเซียน มุมประชาธิปไตย มีการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อหลายช่องทาง อาทิ Facebook / Fanpage : กศน.ตำบลปลายโพงพาง และระบบ line ขณะเดียวกัน ครู กศน.ตำบล มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยการอบรมตามที่หน่วยงานจัดขึ้นและการอบรมออนไลน์ผู้เรียนผู้รับบริการมีความพึงพอใจ

ฝึกอบรมส่งเสริมสุขภาพกายใจผู้สูงอายุ

สภาพแวดล้อม เอื้อต่อการเรียนรู้

กศน.ตำบลปลายโพงพาง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สภาพแวดล้อมทางกายภายในอาคาร มีความกว้างขวางเหมาะแก่การจัดการเรียนการสอน ได้แก่ มุมส่งเสริมการอ่าน มุมหนังสือแบบเรียนรายวิชาระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย มุมประชาธิปไตย มุมอาเซียน มุมศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง มุมกาแฟดิจิทัล

บริเวณด้านหน้าของ กศน.ตำบลปลายโพงพาง เป็นสถานที่มีต้นไม้มากมายให้ความร่มรื่น มีการจัดศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง มีแปลงปลูกผักสวนครัว มีมุมส่งเสริมการอ่าน มุมส่งเสริมประชาธิปไตย เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและนักศึกษา นอกจากนี้ มีการปลูกต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่น ปลูกผักสวนครัวตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและจัดทำแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไว้เพื่อขยายพันธุ์ให้กับประชาชน

อบรมหลักสูตรการทำปุ๋ยหมักผักตบชวา

กระบวนการเรียนรู้ดี

ด้านกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย กศน.ตำบลปลายโพงพาง ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภออัมพวา และบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน กศน.อำเภออัมพวา มีบ้านหนังสือชุมชนให้บริการแก่ประชาชนตำบลปลายโพงพาง 3 แห่ง คือ บ้านหนังสือชุมชน หมู่ที่ 3 บ้านลัดตาช่วย, บ้านหนังสือชุมชน หมู่ที่ 7 บ้านโคกเกตุ, บ้านหนังสือชุมชน หมู่ที่ 8 บ้านสี่แยก อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ความสำเร็จของการดำเนินงานการศึกษาตามอัธยาศัย มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีผลเชิงประจักษ์โดดเด่น มีการจัดโครงการกิจกรรมการเรียนรู้ในบ้านหนังสือชุมชน ตำบลปลายโพงพาง โดยส่งแผนการจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยให้ผู้บริหารเห็นชอบเป็นประจำทุกเดือน บ้านหนังสือชุมชน กศน.ตำบลปลายโพงพาง ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เช่น การทำพวงกุญแจผ้า การทำลูกประคบสมุนไพร การทำเจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ

ครูวรรณา เดชฉกรรจ์ ประเมินการรู้หนังสือ ของนักศึกษา กศน.

สร้างค่า ผลิตภัณฑ์จากกะลา

พื้นที่ตำบลปลายโพงพางเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ประกอบด้วยสวนมะพร้าว สวนส้มโอ และบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งจากการประชาคมหมู่บ้าน พบว่าประชาชน หมู่ที่ 1 บ้านปากวน ตำบลปลายโพงพาง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว ซึ่งคนในสมัยก่อนเวลาปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดข้อ เส้นเอ็น จะนำกะลามะพร้าวด้านที่มีตามาคว่ำและใช้เท้าเหยียบไปมา เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือนำมาหนุนศีรษะ หนุนหลัง ก็จะบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้เช่นกัน

ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและการดำรงชีวิต ซึ่งในแต่ละวันทุกคนมีภาระหน้าที่และกิจกรรมที่ต้องทำ ทั้งในด้านการทำงาน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลรักษาสุขภาพ มือเป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ในการทำงาน ใช้หยิบจับ หรือบางที่บางคนแทบไม่ได้ใช้งานมือ นิ้วมือ จึงมีอาการเหน็บชา เจ็บป่วยตามนิ้วมือ หากไม่สนใจดูแลรักษา อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาภายหลังได้

อบรมหลักสูตรระยะสั้น การทำขนมอบเบเกอรี่

ชาวบ้านในชุมชนภายใต้การนำของ นายวีระชิต จันทร์เพ็ง ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกะลา ตำบลปลายโพงพาง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 เพื่อนำกะลามะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยบำบัดรักษา ดูแลสุขภาพมือได้อีกทางหนึ่ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออัมพวา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภออัมพวา และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสงคราม

ผลงานการทำตุ๊กตาลูกบีบกะลา จากผู้เข้าอบรมอาชีพกับ กศน.

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกะลา ตำบลปลายโพงพาง ได้นำกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่เหลือใช้ในท้องถิ่นนำมาเจาะเป็นเม็ดเล็กๆ หลายๆ เม็ด นำมาร้อยติดกัน ให้ได้เป็นรูปแล้วเย็บติดกับพื้นลูกบีบ ในเบื้องต้นพบว่า เม็ดกะลามะพร้าวเพื่อสุขภาพมีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาโรคเกี่ยวกับมือได้ ทางกลุ่มจึงพัฒนาเป็นลูกบีบกะลาปลดล็อก ช่วยรักษาระบบประสาทมือให้ประชาชน ช่วยบรรเทาอาการเหน็บชา ช่วยลดอาการเกร็งชาตามมือและนิ้วมือ ทำให้การหมุนเวียนของโลหิตดีขึ้น และสามารถใช้คลึงบริเวณที่ปวดเมื่อยตามร่างกายได้

กศน.ตำบลปลายโพงพาง คว้ารางวัลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยมระดับภาคกลาง

ในปีงบประมาณ 2562-2564 ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยนำมาทำเป็นรองเท้ากะลาเพื่อสุขภาพ แผ่นพิงหลังเม็ดกะลา ตุ๊กตาลูกบีบกะลา สายคล้องหน้ากากอนามัยทำด้วยเม็ดกะลา และยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนได้อย่างดี

กล่าวได้ว่า กศน.ตำบลปลายโพงพาง ได้ดำเนินการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในเรื่อง “ผลิตภัณฑ์จากกะลา” โดยมีการทดลอง พัฒนาโดยใช้กระบวนการปฏิบัติที่ดีเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านอาชีพ ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน ประชาชนสามารถพัฒนาตนเองได้ พัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน

Related Posts