เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน ร่วม กฟผ. ดูงานเกษตรอินทรีย์เพชรบุรี เพื่อต่อยอดการเรียนรู้สู่ ปชช.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน ที่ จ.เพชรบุรี คณะนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน นำโดยนายพานิชย์ ยศปัญญา นางยุวดี ธงสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำคณะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากเขตเขื่อนโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนกว่า 40 คน เดินทางมายังศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน บ้านหนองจิก หมู่ 6 ต.วังจันทร์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อศึกษาดูงานตามโครงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีนายชาญณรงค์ พวงสั้น หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เจ้าของศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้การต้อนรับและเป็นวิทยากรบรรยาย

นายชาญณรงค์กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน บ้านหนองจิก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 20 ไร่ ภายในสวนมีการปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทไม้ยืนต้น ไม้ประดับ และพืชผลทางการเกษตรกว่า 10 ชนิด ประกอบด้วย จันทร์ผา ยางนา มะค่าโมง ประดู่ มะปราง สัก พริกไทย มะนาวแป้นลำไพ ผักกูด ผักเหลียง เป็นต้น ทำเป็นเกษตรอินทรีย์มานานกว่า 10 ปีแล้ว

“การเกษตรที่นี่เริ่มด้วยการปลูกมะละกอ เนื่องจากเป็นไม้ล้มลุกในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายและมีความนิยม เน้นใช้สารเคมีเป็นหลัก แต่ไม่นานก็เกิดปัญหาสารตกค้างในผลผลิต ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน จากนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงได้นำทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงดัดแปลงในไร่ ด้วยการใช้ปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์จากฟาร์มที่ไม่ใช้สารเคมี ส่วนแหล่งน้ำใช้มีการกักเก็บน้ำขึ้นมาเอง ไม่มีสารปนเปื้อน ผลผลิตจึงมีคุณภาพเกิดความปลอดภัย ไร้สารตกค้าง มีความสมบูรณ์ และมีสมดุลทางชีวภาพ พร้อมจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของชุมชนภายในท้องถิ่น” นายชาญณรงค์กล่าว
ด้านนางยุวดีกล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีนโยบายด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดโครงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ในทฤษฎีเกษตรอินทรีย์และเกษตรแบบผสมผสาน นำไปสู่การลดใช้สารเคมีในพื้นที่ของตนเอง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพจนเกิดการเลิกใช้สารเคมีในที่สุด

นายพานิชย์กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ในฐานะสื่อเทคโนโลยีชาวบ้าน ตนจะนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ทฤษฎีการเกษตรอินทรีย์และการเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานปราศจากสารเคมี และเกิดความปลอดภัยสู่ผลิตและผู้บริโภคต่อไป

 จากนั้นเวลา 13.00 น. คณะได้เดินทางไปยังโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อศึกษาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ผืนดินเกือบ 400 ไร่แห่งนี้เป็นโครงการด้านการเกษตรตั้งแต่ปี 2551 พัฒนาเป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจนานาชนิด เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่และเกษตรกรผู้สนใจจากทั่วประเทศ สิ่งที่น่าสนใจในโครงการชั่งหัวมันคือ การใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน การผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ การสาธิตการปลูกสบู่ดำ การปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มีแปลงพืชเพื่อศึกษาและส่งเสริมการผลิตชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้งที่มีชื่อเสียงของ จ.เพชรบุรี ส่งเสริมการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง การทำปุ๋ยหมัก การปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผัก นานาชนิด
สำหรับผู้สนใจศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสาน บ้านหนองจิก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายชาญณรงค์ พวงสั้น หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี โทร.081-7057911

Related Posts