เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2559 พบงานวิจัยมีผลต่อแผนยุทศาสตร์ชาติในการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรีย

ผลงานวิจัยเรื่อง “นิเวศวิทยาของยุงและแมลงวันคอกสัตว์และนัยยะความเป็นไปได้ในการใช้สารสกัดพืชเพื่อควบคุมแมลงพาหะนำโรค” ของ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีม พร้อมด้วยทีมวิจัย  ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น ประจำปี 2559 ด้านวิชาการ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้นยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีผลงานดีเด่น อันจะเป็นต้นแบบที่ดีของการทำงานวิจัยที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ตั้งใจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ หัวหน้าทีมวิจัย เข้ารับโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2559 ด้านวิชาการ จาก พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่

วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ โดยข้อมูลผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อแผนยุทธศาสตร์ด้านนโยบายทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ ในการวางแผนการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรีย อันเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นป่องเป็นพาหะและเป็นอันตรายที่คร่าชีวิตเป็นล้านคนในแต่ละปี

ศาสตราจารย์ ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ กล่าวว่า  การจัดการยุงพาหะนำโรคมาลาเรียให้ได้ผล จำเป็นต้องมีข้อมูลของยุงพาหะนำโรคในด้านต่าง ๆให้ครบถ้วน ซึ่งยุงพาหะนำโรคมาลาเรีย ทั้ง 7 ชนิด จัดเป็นยุงพาหะชนิดที่ซับซ้อน ไม่สามารถจำแนกชนิดได้โดยลักษณะทางกายภาพหรือรูปร่างสัณฐานภายนอก ดังนั้นการมีแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงการกระจายตัวของยุงพาหะนำโรคมาลาเรียทั้ง 7 ชนิด            จึงมีความสำคัญในการวางแผนจัดการและควบคุมโรค จากผลการวิจัย ทีมวิจัยได้ศึกษาจำแนกสารเคมีในการควบคุมยุงพาหะนำโรคตามแนวคิดใหม่เป็นครั้งแรก และได้พัฒนาแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของยุงพาหะนำโรค ที่ต้านทานต่อสารเคมี นอกจากนี้ได้พัฒนาแผนที่ภูมิศาสตร์ของยุงพาหะนำโรคมาลาเรียในประเทศไทยที่จำแนกด้วยเทคนิคทางด้านโมเลกุลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็นแผนที่การกระจายของยุงพาหะนำโรคมาลาเรียที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้  ซึ่งแผนที่ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางแผนการควบคุมโรคมาลาเรียแบบกำหนดทิศทางใช้เป็นข้อมูลในการจัดแบ่งพื้นที่การระบาดของโรคมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำที่สุดของประเทศไทย

Related Posts